กนง. ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้

ศูนย์วิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า หลังจากกนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% โดยกรรมการเสียงส่วนใหญ่ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน พร้อมระบุความกังวลหนี้ครัวเรือนสูง และให้ความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ขณะที่กรรมการเสียงส่วนน้อยเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้นและจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนที่ 2.6 % และ 3.0 % ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ โดยระบุชัดว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ลดลงช่วงหลังวิกฤต COVID-19 สำหรับด้านเงินเฟ้อ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลงและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้ นอกจากนี้ กนง. มองภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว แต่ธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนรายได้น้อยบางส่วนเผชิญกับภาวะการเงินตึงตัว ในระยะข้างหน้า กนง. เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังเป็นประเด็นต้องติดตาม

SCB EIC ยังคาดว่ากนง. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้แม้รอบการประชุมนี้ กนง. จะยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% แต่การมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ติดต่อกันอีกครั้งหนึ่งยังเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า หากพิจารณาผลการประชุมในอดีตพบว่า กนง. มักจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อส่งสัญญาณต่อตลาดการเงินก่อนจะเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยในการประชุมครั้งนี้ กนง. ยังสื่อสารเน้นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลงโดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่เผชิญความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ประกอบกับกรรมการเสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างดังกล่าวและจะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้ด้วย

Message us