นายกฯบุกมหาดไทยถิ่น “อนุพงษ์”นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมกับผู้ว่าฯทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุมติดตามการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ เข้าประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ผ่านระบบ VCS ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 กระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำและการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือของจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จ.ชัยภูมิ จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี จ.เชียงใหม่ จ.เพชรบูรณ์ และกรุงเทพมหานคร

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาให้กำลังใจผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ทุกคน พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยได้มีการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ได้วางแผนไว้อย่างเป็นขั้นตอน ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาต่อประชาชนโดยรวม และในวันนี้จึงได้มารับฟังและรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะดูแลด้านงบประมาณ ด้านการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น พร้อมบูรณาการและเตรียมแผนการดำเนินงานและแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถวางแผนในการดูแลประชาชนได้ อาทิ การพร่องน้ำ การระบายน้ำ การเก็บกักน้ำ การจูงน้ำในพื้นที่ไว้ล่วงหน้า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การระบายน้ำ ทั้งในพื้นที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกให้เกิดความสมดุล ตั้งแต่ภาคเหนือลงมายังภาคกลาง เพื่อไม่ให้เกิดการล้นตลิ่งหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งในอนาคตจะต้องดำเนินการขุดลอกคลองหรือการสร้างประตูน้ำเพิ่มเติม เพื่อลดความเดือดร้อนที่จะเกิดกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอเน้นย้ำให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวัง เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ทำนบกั้นน้ำ ซึ่งขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่ก็ต้องมีการเตรียมการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา สำหรับพื้นที่ กทม ก็มีความห่วงใยพื้นที่ประสบปัญหา จึงขอให้ กทม ต้องวางแผนในการบริหารจัดการเพราะต้องรับน้ำจากด้านเหนือทั้งพื้นที่ในคันกั้นน้ำ และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย

สำหรับ นโยบายในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ได้แก่ 1.การพยากรณ์ โดยขอให้มีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ ทุกกลุ่มได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเร็วที่สุด 2. ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ทุกกระทรวง/หน่วยงาน เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกล สำหรับช่วยเหลือประชาชนตามแผนงานและแผนเผชิญเหตุ รวมถึงการกำจัดวัชพืช การจัดการขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำ การระบายน้ำ การเปิดทางน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัย 3. หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนและเส้นทางต่าง ๆ ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก และในอนาคตการสร้างถนนจะต้องไม่ขวางทางน้ำ และมีท่อสำหรับการระบายน้ำด้วย 4. การติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ป้ายบอกทางในพื้นที่อุทกภัยให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดอุบัติเหตุในเส้นทาง และ 5. เมื่อสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ฯ ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในกรณีเกิดน้ำท่วมขังขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชนจิตอาสา ระดมสรรพกำลังทั้งกำลังคน และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ในการเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย รวมทั้งเตรียมความพร้อมของศูนย์อพยพ หรือ ศูนย์พักพิงให้มีอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านน้ำ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นส่วนสำคัญในระดับพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ต้องเร่งสร้างให้การรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน เพื่อให้ไม่เกิดการตื่นตระหนก รวมถึงสามารถเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐได้
.
ด้าน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวถึง ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยและการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานว่า ภาพรวมประเทศไทยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งสิ้น 71 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร 510 อำเภอ 2,356 ตำบล 14,327 หมู่บ้าน/ชุมชน มีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหาย 81,660 ครัวเรือน มี ผู้บาดเจ็บ 7 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 19 ราย ผลกระทบความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ประมาณ 1,200,000 ไร่ และสำหรับสถานการณ์อิทธิพลของ “พายุโนรู” ได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ 24 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 6 จังหวัด และภาคกลาง 6 จังหวัด ในพื้นที่ 116 อำเภอ 740 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 45,503 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำล้นตลิ่ง ใน 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก และลุ่มน้ำชี-มูล

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 65 ประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าติดตามพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ โดยอาจจะมีผลกระทบภาคใต้ตอนบนถึงภาคใต้ตอนกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประสานข้อมูลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมการเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

Message us