ผู้ว่าฯชัชชาติร่วมกิจกรรมวาดภาพบนกำแพงสถานทูตสหรัฐฯส่งเสริมการแสดงออกด้วยศิลปะ

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (H.E. Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกิจกรรมวาดภาพบนกำแพงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมี น.ส.ลิเดีย บาร์ราซา ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายคุง คาเรล เคราห์บ๊อช (Mr. Koen C. Kruijtbosch) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์กานอน(ประเทศไทย) จำกัด น.ส.สิริพร ราธี ผู้จัดการโครงการ WeEmpowerAsia แห่งประเทศไทย องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women (ยูเอ็นวีเม็น) นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกิจกรรม น.ส.อแมนดา พึ่งโพธิปักขิยะ ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ลูกครึ่งไทย-อินโดนีเซีย และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสวนลุมพินี จำนวน 10 คน ร่วมวาดภาพบนกำแพงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ (ฝั่งยื่นคำร้องขอวีซ่า) ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน

ทั้งนี้ กิจกรรมการเขียนรูปบนกำแพงใช้แนวคิด”We Are Tomorrow” อนาคตคือคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะบนกำแพงที่ว่างเปล่าให้มีสีสัน สอดคล้องกับเทศกาล Colorful Bangkok ของ กทม. ที่จะเนรมิตให้ 3 เดือนเต็มจากนี้ มีศิลปะ แสงสี และดนตรี จัดแสดงทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ศิลปินแสดงความสามารถและมีพื้นที่นำเสนอผลงาน ซึ่งการร่วมมือรูปแบบนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายและสามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเมือง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในเมือง เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นอกจากนี้ศิลปะยังเป็นการแสดงถึงอิสระ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอีกด้วย เนื่องจากเมืองคือคนและคนคือผู้ที่แสดงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งต่างจากวัตถุหรือสิ่งปลูกสร้าง

“ตอนนี้เราเห็นความร่วมมืออย่างไม่น่าเชื่อจากหลายภาคส่วน เช่น เมื่อวันก่อนท่านทูตอิสราเอลได้มาร่วมปลูกต้นไม้กับเราที่สวนเบญจกิติ เมื่อวานนี้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจากเครือรัฐออสเตรเลีย ก็มาปลูกต้นไม้กับเรา สองวันก่อนมีสถานทูตไอร์แลนด์ อยากทำเทศกาลหนัง การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ความร่วมมือแบบนี้จึงเป็นสิ่งสวยงาม ตั้งแต่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้พูดคุยกับสถานทูต 21 ชาติแล้ว” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับ น.ส.อแมนดา พึ่งโพธิปักขิยะ ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกันลูกครึ่งไทย-อินโดนีเซีย เกิดที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา มีบิดามารดาเป็นผู้อพยพชาวไทยและชาวอินโดนีเซีย ศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และทำงานในห้องทดลองวิจัยโรคอัลไซเมอร์ ก่อนที่จะเบนเข็มมาเป็นศิลปิน นักการศึกษา และนักเคลื่อนไหวเต็มตัวในย่านบรูกลีน รัฐนิวยอร์ก มีผลงานทางศิลปะที่เกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม วิทยาศาสตร์ และชุมชน โดยได้รับการจัดแสดง ทั้งในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ บนอาคารต่าง ๆ ในอุโมงค์ทางหลวงและตามทางเดินในสถานีรถไฟใต้ดิน ตลอดจนบนเวทีหลักของงานสัมมนา TED จำนวน 2 ครั้ง รวมถึงปรากฏในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์และนิตยสารเดอะการ์เดียน รวมถึงหน้าปกนิตยสารไทม์ด้วย ในปี 2563-2564 นางสาวอแมนดาฯ เป็นศิลปินในสังกัดของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนนิวยอร์กซิตี (NYC Commission on Human Rights) นอกจากนี้ ผลงานของนางสาวอแมนดาฯ ยังถูกจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert Museum ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พิพิธภัณฑ์ Museum of the City of New York ณ นครนิวยอร์ก และห้องสมุดสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา ด้วย


Message us