“พระองค์หญิง”เสด็จฯเป็นองค์ประธานประกวดผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญารอบชิงชนะเลิศ

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการแถลงการจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” รอบตัดสินระดับประเทศ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่าย พร้อมผู้แทนคณะกรรมการประกวดผ้าฯ ร่วมแถลง

ดร.วันดี กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพสกนิกรคนไทยทุกคน ซึ่งไม่มีคนแผ่นดินไหนในโลกโชคดีเหมือนกับคนไทย เพราะตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมาเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฝืนผ้าไทยที่หายไปจากแผ่นดินไทยให้กลับคืนสู่ชีวิตของคนไทยและสังคมไทย ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ทำให้เราได้รู้จักผ้าไทยถึงทุกวันนี้ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยมั่นในการสืบสาน เพื่อทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไปจากสังคมไทย ให้ผ้าไทยยังมีลมหายใจ เป็นเครื่องสะท้อนถึงความเป็นชาติ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมความเป็นไทย จะเห็นได้ว่ากว่า 3 ปีที่พระองค์ท่านได้พระราชทานผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ยังผลให้เกิดการชุบชีวิตให้กับพี่น้องช่างทอผ้า กว่า 1.3 แสนครัวเรือน ซึ่งหากเรานับรวมภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องก็จะมีเป็น 1,000,000 คน ด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ผ้าไทยกลับมามีคุณค่า มีความหมาย เป็นอาชีพ เป็นช่องทาง ที่ทำให้เกิดการสร้างรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณนี้ยังแผ่ขยายครอบคลุมผู้ประกอบการผ้าทุกกลุ่ม ทั้งลายท้องทะเลไทย ลายป่าชายแดนใต้ ลายเทิดไท้เจ้าหญิง และพระราชทานให้ปรากฏในงานหัตถศิลป์หัตถกรรม เซรามิคต่าง ๆ อีกด้วย

“พระองค์ท่านทรงงานอย่างหนัก พระองค์ท่านทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ลงมาช่วยเรา ทรงศึกษาค้นคว้า คิดค้นลวดลาย อุทิศทุกลมหายใจเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ในห้องทรงงานของพระองค์ท่าน จะมีชั้นหนังสือที่รวมหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิชาการด้านผ้าจากทั่วโลก นำมาสู่การพระราชทานแนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยพระประสงค์ที่อยากให้การตัดเย็บออกแบบผ้าไทยได้รับความนิยมในทุกวัย สามารถออกแบบนำผ้ามาปะติดปะต่อกัน นำลวดลายมาสลับซับซ้อน ย่อขนาดไซส์ ให้มีความสวยงาม และเกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังเช่นผลงานวิชาการแฟชั่นชิ้นสำคัญที่พระองค์ทรงทุ่มเทด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ เกิดเป็นหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK เพื่อให้ผู้ประกอบการผ้ามีแนวทางในการเลือกสีให้เข้ากับแฟชั่นสมัยนิยม รวมถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งการออกแบบจัดทำ branding packaging ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการเอง ทำให้เขาได้ประโยชน์ เช่น กลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยได้ทำสำเร็จแล้วขยายผลสู่กลุ่มทอผ้าบ้านคำประมง และล่าสุด คือ นาหว้าโมเดล ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเกิดจากพระอัจฉริยภาพที่เป็นนวัตกรรมการทอผ้าสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไทย ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ 70 ล้านคน ครึ่งประเทศหันมาสวมใส่ผ้าไทย 35 ล้านคน ซื้อผ้าไทยเพิ่มคนละ 10 เมตร 350 ล้านเมตร เมตรละ 300 บาท เงินแสนล้านบาทก็จะกลับคืนสู่คนทอผ้ากลับคืนสู่ชุมชน ไม่รวมค่าตัดเย็บ ค่าอุปกรณ์ทั้งหลาย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และประการสำคัญที่สุด ทำให้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ทอกันมาตกทอดกว่าร้อยปีได้สืบสานต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน” ดร.วันดีกล่าว

ดร.วันดี กล่าวอีกว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและมีความมุ่งมั่นในการสนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการจัดประกวดการออกแบบตัดเย็บผ้าไทยให้มีความหลากหลายใส่ได้ในทุกโอกาส ทุกช่วงวัย เช่น ชุดไปงานฉลองรับปริญญา ชุดไปงานแต่งงาน เพื่อทำให้เราได้เห็นว่า ผ้าไทยสามารถตัดเย็บได้ทุกแบบ สามารถขยายผลเป็นชุดที่มีหลากสีสันได้ โดยจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมการประชุมสมาคมแม่บ้านสัญจร จะมีขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป โดยมี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด เป็นผู้นำร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด ทั้งผู้นำกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สมาคมสตรี กลุ่มสตรีระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โรงเรียน มหาวิทยาลัย และทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเมื่อเราสามารถขับเคลื่อนการส่งเสริมผ้าไทยเหล่านี้ได้สำเร็จ จะทำให้เกิดกระแสความสนใจและความนิยมชมชอบ เกิดการกระตุ้นภาคการผลิต (ต้นน้ำ) จากปริมาณความต้องการผ้าไทย (กลางน้ำ) ที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลทำให้ปลายน้ำ คือ ช่างทอผ้า ได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่เพิ่มพูน ครอบครัวและลูกหลาน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า การประกวดผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยมาโดยตลอดและต่อเนื่องยาวนาน มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสานด้วยพระอัจฉริยภาพโดยนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคง และคัดเลือกผ้าที่สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้สีธรรมชาติ ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ว่า นี่แหละคือศิลปวัฒนธรรมความภาคภูมิใจของคนไทย โดยมีผู้ส่งผ้าเข้าคัดเลือก 2,946 ผืน หัตถกรรม 298 ชิ้น โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการคัดเลือก ถึงรอบรองชนะเลิศ จาก 156 ชิ้นเหลือ 61 ชิ้น เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ (Final) โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานการประกวดรอบตัดสินในวันที่ 31 ต.ค. 65 นี้

คุณรติรส จุลชาต กล่าวว่า เมื่อสมัยเรียนตั้งแต่เด็ก พอเปิดเทอมมาคุณครูจะให้ทุกคนได้เล่าว่าในช่วงปิดเทอมไปทำอะไรมา ส่วนใหญ่เพื่อนในห้องเรียนก็จะไปเที่ยวต่างประเทศ ไปพักผ่อนกับครอบครัว แต่พระองค์หญิงทรงเล่าว่า พระองค์จะโดยเสด็จสมเด็จย่า (สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ไปทั่วทุกที่ ซึมซับเรียนรู้การทรงงาน ทำให้พระองค์ท่านมีความรักในศิลปะในทุกด้านตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งดนตรี การวาดภาพทุก ๆ เรื่อง และเมื่อถึงขั้นเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อนก็ไปเรียนหมอ เรียนวิศวะ เรียนบริหารธุรกิจ พระองค์ทรงเลือกเรียนศิลปะ ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทรงพระดำริว่า “ศาสตร์ต้องคู่กับศิลปะ” เพราะศิลปะจะทำให้ศาสตร์ (Science) เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ตรัสเสมอว่า “เมืองไทยเราโชคดีที่เรามีผ้าไทยเป็นของตนเองเป็นของดั้งเดิมอยู่แล้ว” เมื่อเสด็จในต่างประเทศ นักข่าวต่างประเทศจะถามว่าผ้าที่ทรงสวมใส่เป็นผ้าจากที่ไหน พระองค์จะตรัสเสมอว่าเป็น Thai Silk พระองค์มีพระประสงค์จะยกระดับศิลปะแฟชั่นไทยให้เป็น image ระดับโลก ไม่ว่าอะไรที่เป็นผลงานแฟชั่นดีไซน์ บรรจุภัณฑ์ (Packaging) และการดูแลเอาใจใส่ลูกค้า โดยพระองค์ท่านทรงตั้งมั่นว่า จะนำความรู้ความสามารถด้านศิลปะของพระองค์ท่านมาช่วยชีวิตประชาชนคนไทยอย่างดีที่สุด ด้วยความทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงมีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์อย่างสุดกำลังพระวรกาย

“ขอบคุณกระทรวงมหาดไทย โดยท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยและท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการส่งเสริมผ้าไทย ตั้งแต่ในเรื่องการประกวดผ้าลายพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งเป็นลายแรก ทำให้พระองค์ทรงดีพระทัยที่ทำให้เกิดเม็ดเงินรายได้ให้กับประชาชนช่างทอผ้าได้ถึง 1,300 ล้านบาท และในครั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่าผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา มีคนส่งเข้าประกวดถึง 2,946 ผืน และมีน้อง ๆ Young OTOP เข้าร่วมการประกวดเยอะขึ้นมาก สอดคล้องกับสิ่งที่พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่าง คือ การสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ซึ่ง Young OTOP เหล่านี้จะเป็นผู้สืบสานให้ศิลปหัตถกรรมไทยยังคงอยู่คู่กับบ้านเมืองไทยตลอดไป” คุณรติรสฯ กล่าวเพิ่มเติม

คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กล่าวว่า การเดินทางของคณะกรรมการประกวดฯ ในช่วงที่ผ่านมาที่ได้ระหกระเหินไปทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทุกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทยและมีประสบการณ์ถวายงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต ดร.ธีระพันธ์ วรรณรัตน์ และอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ โดยปีนี้คณะกรรมการทุกท่านต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าตัดสินด้วยความยากมาก เพราะผ้าทุกผืนสวยจริง ๆ และทุกผืนล้วนเกิดจากการฟื้นฟูภูมิปัญญาในเชิงลึกของผู้เข้าประกวด เช่น การสาวไหมลงกระบุง การใช้กี่โบราณ การใช้ไหมบ้าน การใช้ไหมบ้านเส้นยืนซึ่งจากงานวิจัยมักจะพบในผู้ประกอบการอายุ 80 ปีขึ้นไป แต่ผลงานในปีนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า เกิดผลลัพธ์ตามพระปณิธานจริง ๆ นั่นคือ เป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาบรรพบุรุษในทุกขั้นตอน (Process) เช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหมด้วยมือ การสอยริมตะเข็บด้วยมือ ฯลฯ โดยทรงมีกุศโลบายกระตุ้นให้เกิดการสืบสาน รักษา และต่อยอด ดังที่ทรงสืบสานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญาที่มาจากผ้าขิดลายสมเด็จ เพื่อให้คนปัจจุบันได้เข้าใจประวัติความเป็นมา โดยได้เว้นช่องว่างเพื่อให้คนได้นำลวดลายของโบราณมาเติมเต็ม เพราะท่านบอกว่าเมื่อทำลายใหม่จะหลงลืมลายเก่า จึงต้องเว้นช่องไว้ให้ผสมผสานลวดลาย และทรงเน้นย้ำตรัสถามถึงการส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการที่สืบสานภูมิปัญญาบรรพบุรุษให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และทรงพัฒนานวัตกรรมสีธรรมชาติด้วยการสร้างองค์ความรู้กระทั่งมีคุณภาพสดใสเหมือนสีเคมี ซึ่งได้รับการสนองพระดำริโดยกระทรวงมหาดไทย ในทุกมิติ

“ในวันที่ 31 ต.ค. 65 นี้ พระองค์จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานการตัดสิน โดยรางวัลพระราชทานในปีนี้ จะเป็นเหรียญทองคำ เหรียญเงิน และเหรียญนาก สำหรับเด็กและเยาวชนที่ส่งประกวดและได้รับการคัดเลือกในประเภทต่าง ๆ จะมีรางวัลพิเศษ Young OTOP และผู้ประกอบการที่ใช้ผ้าไหมพื้นบ้านดีเด่น การดึงลายเทคนิคโบราณ เช่น โสร่งหางกระรอก ฯลฯ ก็จะมีรางวัลพิเศษให้ด้วย ซึ่งต้องย้ำว่าในปีนี้แชมป์เก่าเมื่อปีก่อนตกรอบไปกว่า 80% เป็นผลงานของช่างทอผ้าหน้าใหม่เกือบทั้งหมด และเราจะนำผ้าที่เข้าประกวดทั้งหมด มาจำหน่ายในวันที่ 31 ต.ค. นี้ด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการทอผ้า จะได้ไม่ต้องนำผ้ากลับ แต่นำเงินกลับไปพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจจะซื้อผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา สามารถเข้าร่วมงานและเลือกซื้อได้ที่หอประชุมกองทัพเรือในวันดังกล่าว” คุณธนันท์รัฐ กล่าวเพิ่มเติม

ดร. วันดี ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกลมหายใจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา คือ การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์ดีขึ้น ผู้หญิงและครอบครัวที่มีอาชีพได้มีเครือข่ายในเรื่องผ้า ทั้งเรื่องการทอ การออกแบบ การตัดเย็บ และคนไทยอีกกว่า 70 ล้านคน จะได้มีโอกาสสวมใส่ผ้าไทย ที่ถือเป็นหนึ่งในความมั่นคงของชีวิต เป็นปัจจัย 4 ของชีวิต ซึ่งถ้าเราทุกคนช่วยกันรณรงค์ให้คนทุกเพศ ทุกวัย หันมาใส่ผ้าไทย เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศก็จะมั่นคง พี่น้องประชาชนในชนบทก็จะมีความอยู่ดีกินดีและสามารถหลุดพ้นกรอบความยากจนได้ทันทีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Message us