พลัง”บวร”ฟื้นชีพร.ร.วัดฆะมังพิจิตรชาวบ้านเฮเหมือนตายแล้วได้เกิดใหม่

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 น.ส.นันทนี มีแดนไผ่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร พร้อมด้วย พระครูพิพิธธรรมเวทย์ เจ้าอาวาสวัดฆะมัง และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง รวมพลัง “บวร” บ้าน-วัด-โรงเรียน และราชการ ช่วยกันฟื้นฟูโรงเรียนวัดฆะมัง ให้กลับมาใช้เป็นที่เรียนที่สอนหนังสือให้กับเด็กๆอีกครั้ง หลังจากที่ถูกปิดโรงเรียนยุบรวมเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุเด็กมีน้อยและเหลือคุณครูเพียงแค่คนเดียว

ทั้งนี้ ล่าสุดพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ระดมกำลังกันดำเนินการซ่อมแซมอาคารสถานที่พื่อให้โรงเรียนวัดฆะมังแห่งนี้ได้กลับมาเป็นโรงเรียน ของชุมชนที่มีคุณภาพ ให้ความรู้แก่เด็กๆ ในตำบลฆะมัง อีกครั้ง โดยใช้เงินเรี่ยไรบริจาคที่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำและได้รับการสนับสนุนในระบบราชการจาก อบต.ฆะมัง และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1พิจิตร ที่จะจัดอัตรากำลังครูและผู้บริหารมาให้

สำหรับ โรงเรียนวัดฆะมังแห่งนี้มีพื้นที่ 5 ไร่ ตั้งอยู่ติดกับวัดฆะมัง “วัดหลวงพ่อพิธ” มีประวัติบันทึกเป็นไว้ที่หลักศิลาหรือเสาปูนที่ตั้งอยู่หน้าอาคารโรงเรียนว่า โรงเรียนวัดฆะมังแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2443 โดยพระณรงค์ เรื่องเดช และ ขุนประพันธ์วุฒิราษฎร์ เคยอาศัยศาลาวัดฆะมัง และโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่เล่าเรียน รวมถึง พระครูพิพิธธรรมเวทย์ เจ้าอาวาสวัดฆะมัง ก็เล่าประวัติโรงเรียนแห่งนี้ว่า ในอดีตคงราวประมาณ 60-70 ปีก่อน คือเป็นโรงเรียนพิจิตรพิทยาคม ที่ปัจจุบัน ร.ร.พิจิตรพิทยาคม คือ โรงเรียนประจำจังหวัดที่ย้ายมาตั้งอยู่ในเมืองพิจิตร นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การที่ น.ส.นันทนี นายก อบต.ฆะมัง เป็นแกนนำปลุกพลังชาวบ้านให้โรงเรียนวัดฆะมัง จากที่ปิดตัวไปเมื่อปี 62 ซึ่งตอนนั้นเปิดการเรียน การสอน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 40 คน ครู 1 คน จึงถูกยุบไปรวมที่ ร.ร.บ้านสวนแตง ซี่งอยู่ห่างจากโรงเรียนวัดฆะมังประมาณ 5-7 กม. โดยมีรถรับ-ส่ง บริการ แต่ผู้ปกครองและคนในชุมชนก็อยากให้เด็กๆได้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน จึงทำการฟื้นฟูอาคารสถานที่ ที่มีอาคารเป็นอาคารไม้เรือนแถว 1 หลัง และอาคารครึงตึกครึ่งไม้สองชั้น 1 หลัง อาคารเอนกประสงค์ 1 หลัง พร้อมทั้งเสาธง-สนามหน้าโรงเรียนขนาดใหญ่บนทำเลที่ตั้งพื้นที่ 5 ไร่ ให้กลับมาเปิดให้บริการทางการศึกษาให้ได้วันแรกในวันที่ 1 พ.ย. 2565 นี้ โดยจะมีนักเรียนชุดแรก 26 คน และเด็กๆในหมู่บ้านที่ไปเรียนโรงเรียนอื่นๆอีกประมาณ 20 กว่าคน จะขอกลับมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้อีกครั้ง จึงนับได้ว่า “โรงเรียนแห่งนี้ เหมือนตายแล้วได้เกิดใหม่อีกครั้ง”

ข่าว/ภาพ : สิทธิพจน์ พิจิตร

Message us