มท.เดินหน้าขับเคลื่อนอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขตั้งเป้าแก้จนลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง อำเภอนำร่อง : Change Agents for Strategic Transformation Program (CAST) ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งหวังให้เกิดการสร้างต้นแบบของทีมคนทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่มีจิตอาสา มีความเสียสละ ประกอบด้วย ภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคีราชการ ภาคีผู้นำศาสนา ภาคีวิชาการ ภาคีเอกชน ภาคีประชาชน ภาคีประชาสังคม และภาคีสื่อสารสังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่อำเภออย่างยั่งยืน โดยมี “นายอำเภอ” ในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ดึงศักยภาพและความมุ่งมั่น (Passion) ของทีมงานออกมาอย่างเต็มที่ ร่วมกันทำงานเป็นทีม ช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น

ทั้งนี้ เป็นแนวทางและวิธีการที่จะนำการเปลี่ยนแปลงในระดับอำเภอได้อย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎรอย่างยั่งยืนตลอดไป นอกจากนี้ทีมอำเภอจะช่วยกันนำการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระดับอำเภอ นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่สอดคล้องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทย เพื่อนำมาซึ่งความเจริญมาสู่ประเทศและนำความสุขให้เกิดแก่พี่น้องชาวไทย ให้ประชาชนมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมที่ดี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ตนได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ วรวรรณ โรจนไพบูลย์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะทำงาน Change for Good กระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ ณ วัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย เพื่อติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นการขับเคลื่อนงานตามโครงการ CAST ของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน ในฐานะหัวหน้าทีม CAST พร้อมด้วย พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย เจ้าคณะตำบลสันกลาง ภาคีเครือข่ายด้านผู้นำศาสนา นายวิทยา ชุมภูคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงราย คณะข้าราชการในสังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รวมทั้ง ผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่น ทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทาง Change for Good ของอำเภอพาน และแผนการขับเคลื่อนในระยะต่อไป

นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน กล่าวว่า อ.พาน ได้นำนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในด้านต่าง ๆ มาขับเคลื่อนในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการ “พึ่งพาตนเอง” โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาขับเคลื่อนขยายผล รวมทั้งแนวทางการขจัดความยากจนและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) ได้คัดเลือกตำบลดอยงาม อำเภอพาน เป็นเป้าหมายพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการสร้างต้นแบบนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน โดยในปี 2565 ได้มีการจัดประชุมสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ พร้อมกับการเก็บข้อมูล ปัญหาและความต้องการ เพื่อวินิจฉัยโจทย์เชิงนโยบายก่อนจัดทำแผนการพัฒนาเชิงบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในฐานะภาคีเครือข่ายผู้นำวิชาการร่วมสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นความโชคดีของพื้นที่อำเภอพาน ที่ท่านพระครูปิยวรรณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย ท่านได้ขับเคลื่อนงานมานาน โดยใช้พลังแห่งการพัฒนาตามหลัก “บวร” พื้นที่ชุมชนแห่งนี้ มีความเข้มแข็งและจุดเด่น ในการดูแลผู้สูงอายุ มีโครงการ “อุ๊ยสอนหลาน” มีโรงเรียนผู้สูงอายุ และส่งเสริมงานการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในหลายมิติ ซึ่งในบทบาทของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่นี้ โดยการนำของท่านนายอำเภอพาน ได้นำกลไกการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการตามแนวทางศาสตร์พระราชา หรือ “กลไก 3 5 7” อันได้แก่ 3 ระดับ (การจัดการในระดับพื้นที่ชุมชน จังหวัด สู่ระดับประเทศ) 5 กลไกการมีส่วนร่วม (ประสานเครือข่าย-ทำแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ – ประเมินผล ติดตาม กำกับ – จัดการความรู้ – สื่อสารสังคม) โดยมุ่งเป้าสานพลัง 7 ภาคีเครือข่าย (ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน) ซึ่งท่านนายอำเภอพาน ท่านปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ท้องที่ ท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย ได้ลงไปหนุนเสริมกันเป็นอย่างดี พร้อมตั้งข้อสั่งเกตว่า หากใช้วัดและชุมชนเป็นฐานแล้วบูรณาการการขับเคลื่อนงานจากพื้นที่แห่งนี้แบบเข้าใจ เข้าถึง จะนับว่าเป็นเรื่องดียิ่ง

“แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่แห่งนี้ คือ มีการส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลกันมาก พื้นที่รอบชุมชน ยังมุ่งเน้นงานประมงน้ำจืด เพราะมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากการส่งเสริมของภาคเอกชนหลายกลุ่ม ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังได้ เกรงจะเกิดความไม่มั่นคงในด้านราคา และด้านความมั่นคงทางอาหารในอนาคต เพราะพืชผลแปลงเกษตรแบบผสมผสาน หรือ โคก หนอง นา ยังมีไม่มาก จึงเป็นหน้าที่ของท่านนายอำเภอและทีมอำเภอต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร จึงจะให้หันกลับมาสร้างสมดุลในการทำกิน ในวิถีการอนุรักษ์ทรัพยากร ลดต้นทุนการผลิต สร้างสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชพันธุ์ให้มีความหลากหลาย และบริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น เพราะ “น้ำ” สามารถหล่อเลี้ยงได้ทั่วถึงทุกสรรพชีวิต นอกจากนี้ พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่นำร่องการดำเนินงานของ ปยป. ด้วย ที่ถือเป็นโอกาสดีของอำเภอแห่งนี้ ดังนั้น หากทุกฝ่ายช่วยกันจริงจังอย่างเป็นระบบ เราจะได้เห็นงานตอบโจทย์ การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ได้ชัดขึ้น” รองศาสตราจารย์วรวรรณ กล่าว

จากนั้นคณะ ได้ลงพื้นที่ ณ วัดศรีบุญชุม สำนักงานธนาคารเมล็ดพันธุ์ความดี ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เพื่อตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการ CAST โครงการการบริหารจัดการน้ำ และสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน โดยมี นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ ในฐานะหัวหน้าทีม CAST พร้อมทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย โดยได้รับเมตตาจากพระครูสิริจันทประโชติ เจ้าคณะอำเภอแม่ใจ เจ้าอาวาสวัดศรีดอนตัน และเจ้าคณะตำบลทุกตำบล ในฐานะภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนา นายธนาคารเมล็ดพันธุ์ความดีของทุกตำบล หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน และภาควิชาการ (18 + 1 Plus) และมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมให้การต้อนรับ และนำเสนอพร้อมนำชมผลการดำเนินการขับเคลื่อนอำเภอนำร่องฯ ทั้งหมด 5 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 กิจกรรม 70 พรรษา 700 ฝาย แม่ใจร้อยใจภักดิ์เทิดไท้องค์ราชัน (ซ่อมสร้างฝาย) กิจกรรมที่ 2 กิจกรรม สร้างรัฐธรรมนูญแก่เหมือง แก่ฝาย สร้างเป้าหมายสู่ความยั่งยืน กิจกรรมที่ 3 กิจกรรม คันนาทองคำ กิจกรรมที่ 4 กิจกรรม 70 พรรษาเมล็ดพันธุ์ความดี 700 ครัวเรือนสุขี สู่วิถียั่งยืน (สร้างความมั่นคงทางอาหาร) กิจกรรมที่ 5 กิจกรรม พรรษา 700 ต้นกล้าความดี วิถีพอเพียง และได้ลงพื้นที่ร่วมทำฝายชะลอน้ำ จำนวน 5 ฝาย และตรวจพื้นที่การพัฒนาหนองเล็งทราย เพื่อน้อมนำศาสตร์พระราชามาพัฒนาให้ยั่งยืนต่อไป

Message us