เร่งผลิตกระทงสายจากกะลามะพร้าว 2 หมื่นใบสืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในเมืองสองแคว

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่วัดสนามคลี(ตะวันออก) ม.1 ต.สนามคลี อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ชาวบ้านรอบชุมชนวัด นักเรียน ผู้นำชุมชน และพระสงฆ์ได้เร่งมือกันผลิตกระทงสายจากกะลามะพร้าว จำนวน 20000 ใบ เพื่อกระตุ้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ร่วมรักษ์โลกและร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงสายที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานถึง 15 ปี และเป็นเพียง 1 เดียวใน จ.พิษณุโลก ยามค่ำคืนเมื่อจุดกระทองจะส่องแสงสว่างเมื่อนำมาลอยพร้อมกันในแม่น้ำ กระทงนับหมื่นดวงจะทอแสงระยิบระยับเป็นสายยาวสุดสายตาแลดูสวยงามในวันลอยกระทง 8 พฤศจิกายนนี้

พระครูสังฆรักษ์เชษฐา ปิยสาสโน เจ้าอาวาสวัดสนามคลี(ตะวันออก) เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ.2550 คุณโยมแม่ฟู คณิกา เป็นลูกหลานของตระกูลแซ่โค้ว ที่มาตั้งรกรากสืบทอดต้นตระกูลอยู่ระแวกนี้ได้เห็นวิถีชาวจีนที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกพันกับแม่น้ำน่านแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน ทั้งแหล่งอาหาร ช่องทางการติดต่อกับผู้คนฝั่งตรงข้ามและถิ่นอื่นๆ ในทุกๆปีชาวบ้านทั้งสองฝั่งน่าน ก็จะทำกระทงใบตองเพื่อมาลอยกระทองตามประเพณี ก็เห็นกันจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่แปลกใหม่

ทั้งนี้ จึงได้มีแนวคิดที่จะลองทำกระทงจากะลามะพร้าว จึงได้นำกะลามะพร้าวที่ขูดเอาเนื้อในออกหมด แล้วมาขัดเกลาจนผิวเกลี้ยง แล้วนำเทียนพรรษาแท่งใหญ่มาต้มให้ละลาย จนเกิดเป็นน้ำใสๆ และนำไปเทลงในกะลา เอาเทียนไขแท่งเล็กมาปักตรงกลาง จุดไฟแล้วนำไปลอยน้ำ ปรากฏว่าลอยน้ำได้ดี และมีแสงสว่างมากกว่ากระทงใบตองปกติ ยิ่งทำจำนวนมากๆ เมื่อนำไปลอยพร้อมๆกันให้ไหลเป็นสายยามค่ำคืนสวยงามมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “กระทงสาย” 1 เดียวของ จ.พิษณุโลก และได้สืบสานกันเรื่อยมา จาก 500 ใบ 1,500 ใบ 2,000 ใบ และในปีนี้ได้ผลิตถึง 20,000 หมื่นใบ เพื่อให้ค่ำคืนวันลอยกระทงในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ตลอดหน้าวัดสนามคลี(ตะวันออก)จะเห็นกระทงสายส่องแสงสว่างสวยงามไหลเป็นสายไปตามลำน้ำน่าน

พระครูสังฆรักษ์เชษฐา ปิยสาสโน เจ้าอาวาสวัดสนามคลี(ตะวันออก)  ได้บอกว่าเริ่มผลิตกระทงสายมาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และยังเปิดให้เด็กนักเรียนชุมชนรอบวัดได้มาเรียนรู้และช่วยผลิต โดยแบ่งเป็นฐาน 9 ฐาน ในการเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่ การปอกมะพร้าว การขูดกะลามะพร้าว การเกลากะลามะพร้าวและดัดแปลงรูปแบบกะลา การทำไส้เทียน การหล่อเทียนลงกะลา การบรรจุไส้เทียนลงกะลา การชุบน้ำมันไส้เทียน การทาสีกะลา และการตกแต่งกระทงกะลาพร้อมลอยน้ำ จึงอยากจะบอกญาติโยมว่าในงานประเพณีลอยกระทงทุกๆปีอยากกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติในการใช้ลอยลงไปในสายน้ำ เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยใช้กะลาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำกระทงสายปล่อยไหลลอยน้ำเป็นสายเรียงรายกันไปดูสวยงาม อีกทั้งยังเป็นการสร้างการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ข่าว/ภาพ : ชินวัฒน์ สิงหะ

Message us