นายกฯร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ศูนย์ประชุม Kuala Lumpur Convention Center (KLCC) ประเทศมาเลเซีย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน–คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ครั้งที่ 2 ร่วมกับผู้นำและผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและ GCC ได้แก่ เจ้าชายซัลมาน บิน ฮะมัด อาล เคาะลีฟะฮ์ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน, เชค เศาะบาฮ์ อัลคอลิด อัลฮะมัด อัลมุบาร็อก อัศเศาะบาฮ์ มกุฎราชกุมารและรองเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต, สมเด็จพระราชาธิบดีฮัยซัม บิน ฏอริก สุลต่าน และนายกรัฐมนตรีรัฐสุลต่านโอมาน, เชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน ญาสซิม อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศรัฐกาตาร์, เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และ เชค มุฮัมมัด บิน ซายิด อาลนะฮ์ยาน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของถ้อยแถลง ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้การขยายความร่วมมือระหว่างภูมิภาคยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกันในด้านเศรษฐกิจและสังคม นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางภายใต้กรอบ “3Ps” ได้แก่

1) ความร่วมมือเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญของการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลาย และความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นยิ่งขึ้น พร้อมสนับสนุนให้มีความเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฮาลาล พลังงานสะอาด ความมั่นคงด้านอาหาร และ MSMEs รวมทั้งผลักดันการจัดตั้งเวที ASEAN-GCC Business Forum อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการศึกษาความเป็นไปได้ของ FTA ระหว่างอาเซียนและ GCC

2) ความร่วมมือเพื่อประชาชน (People) นายกรัฐมนตรีเสนอความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประชาชนของทั้งสองภูมิภาค โดยเน้นการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนบุคลากรในด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การแพทย์ และสุขภาพ พร้อมเสนอให้จัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน 

3) ความร่วมมือเพื่อโลก (Planet) โดยทั้งอาเซียนและ GCC ต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องร่วมกันผลักดันวาระสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน ไทยพร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือด้านเทคโนโลยี โดยเสนอให้ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรุงเทพฯ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ GCC ผลักดันความร่วมมือ อาทิ การเงินสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในฉนวนกาซา โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเดินหน้าสู่การเจรจาหยุดยิงและข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนตัวประกัน เพื่อเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยยังคงสนับสนุนแนวทางสองรัฐ (Two-State Solution) และขอบคุณความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งตัวคนไทยกลับสู่ประเทศได้อย่างปลอดภัยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ GCC ควรได้รับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีอยู่ โดยเน้นการสานต่อเจตนารมณ์ผ่านการดำเนินการจริง และการหารือระดับผู้นำอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนความมั่งคั่ง ประชาชน และโลก ของทั้งสองภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Joint Statement of the Second Summit of ASEAN and GCC) และ (2) ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน กับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Joint Declaration on Economic Cooperation between the ASEAN and GCC) โดยเอกสารดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกับประเทศนอกภูมิภาคในประเด็นที่ไทยต้องการเพิ่มพูนศักยภาพ เช่น การเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคง การเสริมสร้างความเชื่อมโยง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

Message us