“พิธา” ถอยไม่ขึ้นค่าแรง 450 บาท ทันที

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล พบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายจากภาคอุตสาหกรรมพร้อมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลของตัวแทนภาคอุตสาหกรรม

นายพิธา กล่าวว่า สัปดาห์นี้จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ โดยได้พูดคุยเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมยุคใหม่ เอกชนสอบถามเรื่องนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล พลังงาน กฎหมายที่อาจล้นเกิน การแก้ปัญหาคอรัปชั่น พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งต่อไปจะได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด เจาะลงไปในรายเซคเตอร์ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี พร้อมสนับสนุนหนุน เอสเอ็มอี เพื่อให้มีแต้มต่อ สู้กับเศรษฐกิจโลก

สำหรับเรื่องค่าแรง ได้คุยกันในภาพรวม เรื่องการขาดแคลนแรง เรื่องไม่สอดคล้องในอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมต้องการคนมาทำงาน แต่หาคนไม่ได้ ขณะเดียวกันพบว่ามีคนเรียนจบมาแต่ไม่มีงานทำ นิยามคำว่า “อัตราการว่าง” ที่ไม่ตรงกัน รวมถึงทักษะของแรงงาน การพูดถึงค่าแรงที่เหมาะสม

ทางพรรคได้อธิบาย ให้ส.อ.ท.สบายใจว่า ไม่ได้มองเหรียญเพียงด้านเดียว เพราะต้องมีการช่วยผู้ประกอบการด้วย อาทิ การลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี การให้ธุรกิจหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นาน 2 ปี และมาตรการที่สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เคยทำ คือ เพิ่มสภาพคล่องให้เอกชน

ส่วนกรอบตัวเลขนั้น พรรคก้าวไกลยังคงไว้ที่ 450 บาท และต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีกรอบตัวเลขที่ต่างกัน รวมถึงหารือสภาแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยืนยันจะไม่ปรับขึ้นแบบกระชากระบบ โดยเห็นตรงกันว่า ต้องขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ประสิทธิภาพของแรงงาน

เพราะในช่วง 8-9 ปี พบว่า การปรับขึ้นค่าแรงขึ้น 1% จีดีพีโตได้ 2% ประสิทธิภาพแรงงานขึ้น 3% จึงไม่อยากเห็นตัวเลขแบบนั้นอีก ทั้งนี้จะใช้กลไก คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีในการพิจารณา แต่ต้องภายหลังการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จ และได้เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับค่าไฟที่ส.อ.ท.เคยเสนอมาว่าไม่ควรเกิน 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ ดูจากแนวโน้มราคาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และทิศทางการเปลี่ยนสูตรโครงสร้างราคาใหม่

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ได้ขอให้รัฐบาลกิโยตินกฎหมายที่ล้าสมัย ทำกฎหมายใหม่ให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น ต่อไปจะมีคณะทำงานร่วมกันรหว่าง ส.อ.ท. กับรัฐบาลแยกรายกลุ่มอุตสาหกรรม เสริมกับการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ยอมรับว่าที่เคยกังวลกับนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคร่วมรัฐบาล ก็เบาใจลง เพราะนายพิธารับฟังและจะนำไปหารือ เพราะนายพิธาเองก็เคยเป็นสมาชิกส.อ.ท. จึงเข้าใจผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

Message us