
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 19.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พื้นที่ปลูกพระศรีมหาโพธิยาลงกรณ์ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงปลูกพระศรีมหาโพธิยาลงกรณ์ เนื่องในวันวิสาขบูชา
ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ แล้วเสด็จออกจากพลับพลาพิธี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีปลูกพระศรีมหาโพธิยาลงกรณ์ ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิยาลงกรณ์ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม ถวายพระสงฆ์ ทรงหลักทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงมีความเลื่อมใส มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พสกนิกรและพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าได้ปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสอน โดยมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นที่เคารพสักการะ และเพื่อความเป็นสิริมงคล ในโอกาสวันวิสาขบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นพระศรีมหาโพธิ์แก่จังหวัดต่าง ๆ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นต้นกล้าที่นำเมล็ดพันธุ์มาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์เมืองพุทธคยาเจดีย์ สาธารณรัฐอินเดีย สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ควรแก่การเคารพสักการะ เป็นสัญลักษณ์ประจำพระพุทธศาสนามาแต่โบราณกาล ด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขบูชาก่อนพุทธศักราช 45 ปี

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระศรีมหาโพธิ์ที่ทรงปลูก ว่า “พระศรีมหาโพธิยาลงกรณ์” มีความหมายว่า “พระศรีมหาโพธิ์อันงดงามด้วยพระปัญญาตรัสรู้” และพระราชทานนามต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มพระราชทานให้จังหวัดต่าง ๆ เชิญไปปลูก ว่า “พระศรีมหาโพธิทศมราชบพิตร” มีความหมายว่า “พระศรีมหาโพธิ์พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
