
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2568 เป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคลแด่พืชพันธุ์ธัญญาหาร บำรุงขวัญเกษตรกร และเป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

สำหรับในปีนี้ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้เสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกายได้ 5 คืบ เมื่อพระยาแรกนา และผู้เป็นเทพีในการแรกนาขวัญ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคม แล้ว พระยาแรกนา เจิมพระโคพอ พระโคเพียง และคันไถ จากนั้น เริ่มการไถดะโดยทักษิณาวรรต 3 รอบ ไถแปร 3 รอบ พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วไถกลบอีก 3 รอบ โดยมีพระโคเพิ่ม และพระโคพูล เป็นพระโคสำรอง

การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก, ข้าวโพด, ถั่วเขียว, งา, เหล้า, น้ำ, และหญ้า นั้น, พระโคกินน้ำ กินหญ้า และกินเหล้า โหรหลวงได้ให้คำทำนายว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์, การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง


ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ “วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็น “วันเกษตรกรประจำปี” อีกด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตร พึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตรและร่วมกันประกอบกิจกรรมในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ นอกจากนี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย

