
ดร.ธีธัช สุขสะอาด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ DAD Asset Development กล่าวในโอกาสเปิดกิจกรรมอบรมหลักสูตร “การส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานสำนักงาน (White Collars) ณ ห้องประชุม 4-5 อาคารธนพิพัฒน์ ชั้น 1ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ว่า กิจกรรมอบรมนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างองค์กรต้นแบบด้านความปลอดภัยที่ดี ให้ทุกหน่วยงานได้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยอย่างยั่งยืน และส่งต่อให้กับหน่วยงานภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กลุ่มเป้าหมายคือหน่วยงานที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งให้ความสนใจส่งผู้แทนเข้าร่วมอบรมถึง 27 หน่วยงาน จากอาคาร A อาคาร B และ อาคาร C

ทั้งนี้ องค์ความรู้ที่ใช้การอบรม DAD ได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือ สสปท. จัดทำหลักสูตร “การป้องกันปัญหาออฟฟิศซินโดรม สาหรับผู้ปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์” (General Office Workers) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทางานของพนักงานสำนักงาน (White Collar) พร้อมเชิญวิทยากรจากสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) (สสปท.) ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ บรรยายและให้คำปรึกษาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการยศาสตร์ให้พนักงานสำนักงาน และลดอัตราบาดเจ็บทางระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูก

ดร.นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) กล่าวว่า หลักสูตร White Collars ออกแบบให้เข้าใจง่ายและเน้นการปรับพฤติกรรม ทั้งเรื่องการจัดโต๊ะทำงาน การยืดเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างวัน การจัดแสง การพักสายตา และการใช้จิตวิทยาเพื่อสร้างสมดุลในการทำงาน ช่วยลดความเสี่ยงเรื้อรังและส่งเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ซึ่งมักถูกมองข้าม

อย่าไรก็ตาม แม้งานสำนักงานจะดูปลอดภัย แต่แท้จริงแล้วมีความเสี่ยงแฝงอยู่มาก โดยเฉพาะโรคจากการทำงานซ้ำๆ เช่น Office Syndrome หรืออาการบาดเจ็บจากการใช้สายตาและกล้ามเนื้อที่ไม่เหมาะสม ซึ่งข้อมูลจากกองทุนเงินทดแทนปี 2566 ระบุว่า มีลูกจ้างในกลุ่มอาชีพสำนักงานยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนจากการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานกว่า 8,500 ราย สะท้อนให้เห็นว่าไม่ควรละเลยความปลอดภัยในงานเบื้องหลัง กิจกรรมอบรมครั้งนี้จึงถือเป็นการยกระดับความรู้ความเข้าใจเรื่องอาชีวอนามัยในกลุ่มหน่วยงานภาครัฐให้สามารถเป็นต้นแบบต่อยอดสู่สังคมที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน