มท.สืบสานพระปณิธาน”พระองค์หญิง”อนุรักษ์ภูมิปัญญา-พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ไอคอนสยาม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าของชุมชน และกิจกรรมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาตามโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปีโครงการศิลปาชีพ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน นางจิรวรรณ เพ็ญพาส อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คุณรติรส จุลชาต นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ดร. ศรินดา จามรมาน คุณศิริชัย ทหรานนท์ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คุณพีรพงศ์ พงษ์ประภาพันธ์ คุณอารยา จิตตโรภาส คุณปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้แทนกลุ่มทอผ้าทั้ง 6 กลุ่มจาก อ.นาหว้า จ.นครพนม ได้แก่ ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาหว้า กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน และภาคีเครือข่าย ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่ง เพราะเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจที่คนมีหัวใจเดียวกัน คือ “หัวใจแห่งความมุ่งมั่นที่จะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี” ด้วยการนำเอาสิ่งที่เป็นพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปขยายผลให้คนที่สนใจเหมือนกันได้ร่วมกันแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี อันเป็นความสำเร็จที่ประจักษ์ชัดในสังคมแล้วว่า พระองค์ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาความเป็นไทยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้เป็นที่ถูกอกถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย ก่อให้เกิดรายได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลมากและส่วนใหญ่ก็เป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจน แต่คนเหล่านี้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้า

ทั้งนี้ หลังเกิดสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ แผ่นดินนาหว้าหลายจุดได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปช่วยเหลือพี่น้องชาวนาหว้า เมื่อปี 2513 ซึ่งสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของพระองค์ที่มีต่อคนนาหว้า และคนไทยทั้งปวง เปรียบประดุจอนุสาวรีย์ที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทรงมีความรัก ความห่วงใย ความเมตตาต่อพวกเราชาวไทย ปรากฏอยู่ข้างวัดพระธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม อันเป็นความรักความห่วงใยที่คนนาหว้ามีอยู่แล้ว ไปขยายผลจนเกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และได้รับการพัฒนาเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้พระราชทานเมล็ดกล้าพันธุ์ที่แข็งแกร่ง คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กล่าวคือ 1. พระองค์ทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยแท้ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง 2. ทรงโดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงไปพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทรงทอดพระเนตรงาน ทรงซาบซึ้ง และน้อมนำมาสืบสาน รักษา และต่อยอด 3. ทรงเป็นเมล็ดพันธุ์ที่กล้าแกร่ง เพราะพระองค์เติบโตมาช่วงอารยธรรมการแต่งกายของชาติตะวันตกแผ่ขยายทุกตารางนิ้วของประเทศ แต่ก็ไม่ทำให้ความมุ่งมั่นที่จะทรงสืบสานพระราชปณิธานจางหายไป แต่พระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นโอกาสดีที่ชาวมหาดไทยทุกคนได้มีวาสนาที่ดีที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยในการรับกระแสพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยไปทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน

“เครื่องหมายแห่งความรัก ความห่วงใย ความปรารถนาดีที่ทรงอยากเห็นพี่น้องคนนาหว้า และคนไทยทั้งประเทศ มีความสุขอย่างยั่งยืน ได้พระราชทานผ่าน “ตราสัญลักษณ์โครงการนาหว้าโมเดล” ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบด้วยการนำภาพดอกจานที่เป็นดอกไม้พื้นถิ่นแถบอีสานเหนือมาจัดวางให้เป็นรัศมีของดวงอาทิตย์ เพื่อสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่เปล่งประกายสดใส เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเยี่ยมบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นช่วงที่ดอกจานเริ่มบานสะพรั่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งภาพดอกจาน 10 กลีบ สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มีการออกแบบรัศมีดอกจานให้วนขวา เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและความเป็นมงคล ส่วนตัวอักษร S สองตัวตรงกลาง หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และโครงสร้างสีส้มเป็นสีประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และยังหมายถึงความมุ่งมั่นและพลังแห่งการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยก้าวไกลสู่ระดับสากล” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กว่าจะมีวันนี้ได้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก มาขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดผ้าไทยตามแนวพระดำริ ได้แก่ 1) ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย ต้องยอมรับในเรื่องของ know-how องค์ความรู้ใหม่ ๆ ของวงการแฟชั่น 2) ผ้าไทยต้องกลับมาสู่สิ่งที่เราเรียกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นผ้าไทยที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา รวมถึงชีวิตผ้าไทยและชีวิตของคนที่สวมใส่ด้วย โดยใช้ “สีธรรมชาติ” ใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติล้วน ๆ 3) ยึดถือนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิถีชีวิต ด้วยการนำวัตถุดิบทั้งหลายที่จะต้องนำมาทอผ้าผลิตเป็นชิ้นผ้า รวมทั้งต้องรู้จักที่จะปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และปลูกต้นไม้ที่ให้สีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้ผ้าที่ใช้สีเคมีลดลง ซึ่งได้รับการยืนยันจากพี่น้องประชาชนกลุ่มทอผ้าบ้านนาหว้าแล้วว่า คือ ผ้าสีธรรมชาติขายดีมากและได้ราคาดีด้วย เพราะผู้บริโภคผ้าก็อยากให้โลกของเราเป็นโลกที่สวยงามมีอายุยืนยาว และเขารู้ดีว่าสีเคมีเป็นอันตรายกับธรรมชาติ และอันตรายต่อร่างกายด้วย เหล่านี้เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานและคนอำเภอนาหว้าก็พร้อมใจดำเนินการบังเกิดผลดีเป็นรูปธรรม ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ ทุกวันนี้ผืนผ้าทุกชิ้นงานมีออเดอร์ไม่ว่างเว้น ใครจะซื้อต้องเข้าคิวรอเป็นระยะเวลานานมาก

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง วันนี้เป็นวันที่แสดงให้เห็นว่าผ้าไทยไม่ใช่ของโบราณที่คนรุ่นใหม่แตะต้องไม่ได้ แต่ผ้าไทยกลายเป็นชิ้นงานของศิลปะที่ทันยุค ทันสมัย และขณะเดียวกันผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมก็ยังได้รับการรักษาเอาไว้ด้วยการทำให้เกิดความน่าสนใจและเป็นที่นิยมมากขึ้นใน ทั้งการออกแบบลวดลายโดยเอาลายเก่ามาประยุกต์ด้วยการลดย่อขนาด เพิ่มไซส์ เพิ่มช่องว่าง กลับหัวกลับหาง เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภค และประการต่อมา คือ ออกแบบใหม่และพัฒนาการตัดเย็บ ซึ่งผ้าไทยสามารถตัดเย็บได้ในหลายรูปแบบ สามารถตัดเย็บให้คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ทำให้ยิ่งเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ หลักการตลาดสมัยใหม่ที่พระองค์ท่านพระราชทานผ่านคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกมา ก็จะก่อให้เกิดมิติใหม่ของวงการผ้า ทั้งในเรื่อง Packaging เรื่องของ Branding มี Story มีเรื่องราวความเป็นมา

อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งหลายทั้งปวงในพระราชวินิจฉัยจะเห็นได้ว่า พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับคน ให้กับพวกเราคนทำงาน ทั้งข้าราชการ นักวิชาการ จิตอาสาที่มีความรู้เรื่องผ้า ให้เราตระหนักถึงการที่จะต้องไปให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนช่างทอผ้า ทำให้เขาได้เห็นดีเห็นงามด้วยใจ ด้วยปัญญาของเขาเอง ไม่เป็นการบังคับ ซึ่งพระองค์จะทรงหยิบยกชิ้นงานที่ดีแล้วมาเป็นตัวอย่าง เช่น บ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร และทรงใช้กุศโลบายในการทรงงาน ด้วยการจะทรงหยิบชิ้นงานมาชื่นชมและเสริมองค์ความรู้ด้วยการพระราชทานพระวินิจฉัยให้คำแนะนำ เช่น ลายนาคชูสน (ของเดิม) ให้ลองลดขนาดดูหน่อย และลองทำอีกด้านหนึ่งซ้อนลงมา หรือการเพิ่มความกว้างของกี่ จาก 80 เซนติเมตรเป็น 1.5 เมตร หรือ 2 เมตร เพราะช่างทอผ้าจะเคยชินกับการทอผ้าหน้าแคบที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ พระองค์ท่านก็ทรงเข้าไปจุดประกายชี้ให้เห็นว่า วงการแฟชั่นปัจจุบันต้องใช้ผ้าขนาดกว้างในการตัดเย็บ รวมไปถึงเรื่องของเฉดสีที่ต้องเป็นสีแพนโทน และการช่วยกันถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน เป็นต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นระยะเวลากว่า 50 ปี จากปี 2513 ถึงปี 2565 น้ำพระราชหฤทัยจากสมเด็จย่า (สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ได้รับการถ่ายทอดส่งต่อสู่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา แม้จุดเริ่มต้นจะยาวนาน แต่ไม่เคยทำให้พระองค์ท่านลืมพวกเรา จึงขอให้พี่น้องชาวนาหว้าทุกคนได้เก็บสิ่งที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณนี้ใส่เกล้าใส่กระหม่อม เป็นกำลังใจให้กับครอบครัว กับลูกหลาน กับตัวเอง และช่วยกันสนองพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการพัฒนางานของพวกเราให้เป็นที่ถูกอก ถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย ดังพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และที่สำคัญที่สุด ขอให้ส่งผ่านนำสิ่งดี ๆ ทั้งเรื่องพระมหากรุณาธิคุณ องค์ความรู้ และภาพแห่งความทรงจำที่มีอยู่ เป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานชั่วกัปชั่วกัลป์อย่างยั่งยืน

“กระทรวงมหาดไทย ขอน้อมนำแนวพระดำริไปขยายผลกระจายให้ทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค ในทุกจังหวัด เพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบเรื่องราว “บ้านนาหว้า” ที่พวกเราทุกคนได้ช่วยกันทำจนสำเร็จแล้ว ไปพิจารณาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเอง เพื่อเป้าหมาย คือ การสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน นำเอาสิ่งที่ดีไปพูดคุย ไปช่วยกันขยายผล เหมือนดั่งที่ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องกลุ่มทอผ้าอำเภอนาหว้า และขอให้ทุกท่านภาคภูมิใจในชีวิตว่า ทุกท่านเป็นปฐมบทการพัฒนาผ้าไทยในประเทศไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้รับการถ่ายทอดสู่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อันมีความหมายและเป็นการจุดประกายให้กับพี่น้องช่างทอผ้าอีกนับล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งจากวันนี้เป็นต้นไป “นาหว้าโมเดล” จะเป็นแบรนด์ในการทำมาหากิน จึงขอให้คำนึงถึง Branding ที่เป็นมูลค่าเพิ่มของชีวิต โดย “คุณภาพสำคัญ” พี่น้องชาวนาหว้าต้องคิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้ผ้าของชุมชนที่ถูกถักทอด้วยลมหายใจของเราในแรมอาทิตย์ แรมวัน แรมเดือน “เกิดเป็นมูลค่า” เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนนาหว้าทุก Generation ดีขึ้น เพราะพระองค์มีพระประสงค์ให้เราได้ถ่ายทอดส่งผ่านภูมิปัญญาและการพัฒนาเหล่านี้ไปยังลูกหลานทุกวัย

“สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รณรงค์ส่งเสริมให้ทุกจังหวัดประกวดประขันการออกแบบตัดเย็บภายใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ ทั้งชุดไปวัด ชุดไปชายหาด ชุดไปทำงาน ชุดราตรียาว ชุดเดินทาง เพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและใช้อย่างกว้างขวางขึ้น และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส เพราะ “ผ้าไทยต้องใส่ให้สนุกจริง ๆ” ดร.วันดีกล่าว

Message us