สสส.เปิดพื้นที่ “นครพนมโมเดล”บูรณาการภาคีท้องถิ่น “เบาหวานหายได้”

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ จ.นครพนม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 7 ลงพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนางัว อ.บ้านแพง เพื่อศึกษาดูงานโครงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และ ที่ โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ต.โพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลสำเร็จ การบริหารจัดการในชุมชนด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการกองทุน สสส. และประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 7 สสส. กล่าวว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากภาวะ ดื้ออินซูลิน และผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ ความอ้วน ปัจจุบันความชุกโรคเบาหวานในไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายในปี 2540 พบความชุกจากร้อยละ 4.8 เพิ่มขึ้นเป็น 9.5% ในปี 2563 หากใช้การวินิจฉัยโดยระดับน้ำตาลช่วงอดอาหารเป็นเกณฑ์การวินิจฉัย แต่หากวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยในเลือดย้อนหลัง 2–3 เดือนเป็นเกณฑ์การวินิจฉัยร่วมด้วย จะพบว่า ความชุกของผู้เป็นเบาหวานสูงถึง 11% ในจำนวนนี้มีผู้ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายเพียง 26.3% จึงเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เบาหวานจอตา ตาบอด ไตวาย เท้าเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด จ. นครพนม เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของการทำงานบูรณาการระหว่าง ภาคบริการสุขภาพกับภาคประชาชนในระดับปฐมภูมิ ที่ สสส. ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและสงบโรค NCDs อย่างเบาหวาน โดยใช้ ชุมชนเป็นฐาน และ อสม.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

สำหรับ จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านทุนชุมชน ความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงถูกเลือกเป็น พื้นที่นำร่อง ในการพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพที่เน้น การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งตอบโจทย์อย่างยิ่งในบริบทของโรค NCDs เช่น เบาหวาน ที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องทั้งด้านอาหาร การออกกำลังกาย และการติดตามภาวะสุขภาพ อสม. คือกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับระบบบริการสุขภาพ ไม่ใช่แค่ผู้ส่งต่อข้อมูล แต่เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม และเป็นแรงผลักดันให้สุขภาวะเกิดขึ้นได้จริงในทุกครัวเรือน

ทั้งนี้ สสส. ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพ สานพลังกับภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนากลไกเชิงระบบ ที่ไม่เพียงแก้ปัญหาสุขภาพเฉพาะหน้า แต่สร้างระบบสุขภาพที่ ต่อเนื่อง ยั่งยืน และมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านยุทธศาสตร์ ‘พลังปัญญา-พลังสังคม-พลังนโยบาย’ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ หากคนในชุมชนสามารถดูแลกันเองได้ ก็จะได้ระบบสุขภาพที่มีความเข้มแข็งจากฐานราก สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น และลดภาระของระบบรักษาในระยะยาว การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงการไปเยี่ยมชม แต่เป็นการยืนยันว่า ‘เบาหวานหายได้’S ไม่ใช่แค่แนวคิด แต่เป็นไปได้จริง หากเรามีระบบที่หนุนเสริมกันทั้งภาคบริการ ภาคประชาชน และภาคนโยบาย บนฐานของความเข้าใจและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากชุมชน

นพ.วิพุธ พูลเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย ผู้รับผิดชอบโครงการสาธารณสุขมูลฐานเขตเมือง แนวรุกสู่การป้องกันและสงบเบาหวาน กล่าวว่า โครงการสาธารณสุขมูลฐานเขตเมือง แนวรุกสู่การป้องกันและสงบเบาหวาน เป็นการขยายผลจากโครงทดลองระบบบริการสุขภาพสร้างเสริมในเขตเมืองช่วงโควิด-19 โดยมีเป้าหมายป้องกันการเกิดผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ และสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะเบาหวานสงบ (DM Remission) ผ่านแนวทาง “Personalized & Precision Primary Health Care” ที่เน้นการสร้างระบบร่วมจัดการระหว่างหน่วยบริการสุขภาพและสาธารณสุขมูลฐานชุมชน โดยใช้พื้นที่ อ.โพนสวรรค์เป็นจุดนำร่อง ซึ่งมีพฤติกรรม เช่น การบริโภคอาหารสำเร็จรูปและการเคลื่อนไหวน้อย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวาน โดยมีพื้นที่ทดสอบ ได้แก่ ชุมชนบ้านเสาเล้า 4 หมู่บ้าน ที่มีโครงสร้างเครือญาติกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อที่เข้มแข็ง และมีทุนทางสังคมพร้อมต่อการจัดการสุขภาพ

“ข้อมูลในพื้นที่ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ปี 2567 พบผู้ป่วยเบาหวาน 731 คน เพิ่มขึ้นจาก 654 คนในปี 2565 และ 59.9% ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ขณะที่ 476 คนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ได้ริเริ่มคลินิก ‘DM Remission’ โดยนำโภชนบำบัดแบบ Low Carb มาใช้ พร้อมจัดโปรแกรมดูแลร่วม 8 สัปดาห์ มีกลุ่มเป้าหมาย 100 คน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ด้วยกลไก 6 ระบบ ได้แก่ ระบบข้อมูล ระบบบริการกำลังคน ระบบทรัพยากร ระบบเทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการ ระบบสร้างความรอบรู้ ผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ การสร้างพื้นที่บริการร่วม ที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้านสุขภาพ การปรับพฤติกรรม และการติดตามเฉพาะบุคคล มีเป้าหมายขยายเป็นระบบบริการประจำในปี 2568 พร้อมเชื่อมโยงกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผสานเทคโนโลยีและภาคีเครือข่ายเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอย่างตรงจุด” นพ.วิพุธ กล่าว

ด้าน นายวิฑูรย์ แก้วแก่น อสม.ตำบลไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม อสม.ดีเด่นระดับชาติ สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ประจำปี 2562 กล่าวว่า ผลงานเด่น “สายรู้ สายลับ” เป็นการสร้างเกราะป้องกันคุ้มครองสุขภาพ โดยอบรมให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ทำงาน 2 เครือข่าย 1. เครือข่ายสายรู้ คือกลุ่มนักเรียน กลุ่มสรภัณฑ์ และกลุ่มรถโมบายคุ้มครองผู้บริโภค ประชาชนทำหน้าที่ร่วมกับชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลภัยสุขภาพต่าง ๆ คำแนะนำในสถานศึกษา งานบุญต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อ รวมถึงรับเรื่องร้องเรียน 2. เครือข่ายสายลับ คือประชาชนทั่วไป ทำหน้าที่สุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในสถานศึกษา และชุมชน เช่น ร้านชำ รถเร่ รถพุ่มพวงในชุมชนทุกสัปดาห์ หากพบร้านค้าขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะดำเนินการแจ้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภคทันที โดยผู้ประกอบการจะต้องแก้ไขภายใน 1 สัปดาห์ และห้ามจำหน่ายสินค้าดังกล่าว จากการดำเนินงานพบว่าประชาชนสามารถตัดสินใจในการรับบริการด้านสุขภาพ บริโภคผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน


นางปรางทิพย์ ผาลี อสม.ตำบลนางัว อ.บ้านแพง อสม.ดีเด่นระดับชาติ สาขาการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ประจำปี 2567 กล่าวว่า การทำงาน “ยุทธศาสตร์ 5-5-5 พิชิตโรคไม่ติดต่อ” โดยร่วมมือกับคนในชุมชน กลุ่มองค์กร ภาคีเครือข่ายสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชนผ่านการประชาคมหมู่บ้าน พบปัญหาสุขภาพที่ต้องแก้ไข 1. โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 2. โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ 3. โรคไต นำไปสู่การขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรค NCDs ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพตำบลนางัว และ “ยุทธศาสตร์ 5-5-5 พิชิตโรคไม่ติดต่อ” ประกอบด้วย 5 พันธมิตร 5 เริ่ม 5 ลงมือ เริ่มจาก 5 พันธมิตร ขับเคลื่อนการดำเนินงานการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในชุมชน ได้แก่ อบต.นางัว ผู้นำชุมชน รพ.สต.นางัว อสม. วัดพืชมงคลธรรมรักษ์ 5 เริ่ม คือ เริ่มคิด ประชุมร่วมกับ อบต. รพ.สต. ผู้นำชุมชน อสม. ดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อในหมู่บ้านทุกเดือน 5 ลงมือ คือ ลงมือสร้างองค์ความรู้โรคไม่ติดต่อในชุมชน

“กลุ่ม อสม. ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 3อ. 2ส. ได้แก่ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา วิถีชุมชนคนร่มโพธิ์ทอง ให้ความรู้แก่ชาวบ้านร่มโพธิ์ทองทุกเดือน ลงมือคัดกรองโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ วัดความดันโลหิต เจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว ประเมินพฤติกรรมเสี่ยงโดยแอปพลิเคชัน Thai CV Risk Score ลงมือสอดส่องเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อในชุมชน มีกิจกรรม ‘คู่หู คู่คิด พิชิตพฤติกรรมเสี่ยง’ โดย อสม.จับคู่กับกลุ่มเสี่ยงเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่อยู่ในเขตรับผิดชอบประเมินผลกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงทุกเดือนระยะเวลา 1 ปี ลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพใช้หลัก 3อ. 2ส. ผลสำเร็จที่ได้ทำให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกันและวางแผนแก้ปัญหาได้ดี สามารถต่อยอดขยายผลไปใช้ในหมู่บ้านเขตรับผิดชอบตำบลนางัว 10 หมู่บ้าน และรพ.สต.ทั้ง 8 แห่ง ในเขต อ.บ้านแพง” นางปรางทิพย์ กล่าว