ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเผชิญความผันผวนสูง หลังเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่อาจเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเผชิญความผันผวนสูง หลังเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่อาจเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ภาวะตลาดการเงินผันผวนสูงอาจยังคงอยู่ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ พร้อมรอลุ้น ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ (US Midterm Election)

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนตุลาคม คือ สิ่งที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด โดยตลาดมองว่า เงินเฟ้อทั่วไป CPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 8.0% ตามการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนราคาพลังงานก็ทรงตัว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญต่อ เงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI โดยหาก Core CPI ชะลอลงสู่ระดับ 6.5% (คิดเป็นการเพิ่มขึ้นราว +0.5% จากเดือนก่อนหน้า) หรือต่ำกว่านั้น ก็อาจสะท้อนว่า เงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดอาจพิจารณาชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดๆ ไป อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members) รวมถึงคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้น 1 ปี และ ระยะปานกลาง 5 ปี

จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment Survey) โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจทยอยส่งสัญญาณพร้อมชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงหวังว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากผลสำรวจในครั้งก่อน อนึ่ง นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Election) ซึ่งคะแนนความนิยม (Approval Rating) ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประธานาธิบดีคนก่อนๆ ท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพสูง/ภาวะเงินเฟ้อสูง รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนทางฝั่งยูเครนก็ตาม ทำให้ผลสำรวจส่วนใหญ่ต่างชี้ว่า พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทน (the House of Representatives) ซึ่งพรรครีพลับริกันต้องการได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเพียง 5 ที่นั่ง โดยในอดีตที่ผ่านมา เงินดอลลาร์มักจะแข็งค่าขึ้นราว +4% ได้ในระยะสั้น หากพรรคของประธานาธิบดี สูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนหรือวุฒิสภา (the Senates) อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งกลางเทอมอาจใช้เวลานับคะแนนหลายวัน โดยเฉพาะในรัฐที่เริ่มนับคะแนนจากทางไปรษณีย์ช้า ทำให้ตลาดการเงินอาจผันผวนไปตาม ความไม่แน่ของผลการเลือกตั้งได้ในสัปดาห์นี้

▪ ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า ปัญหาค่าครองชีพที่สูงจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษในเดือนกันยายนหดตัวต่อเนื่อง -0.4%m/m ทำให้ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจจะหดตัวกว่า -0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนว่าเศรษฐกิจอังกฤษอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สอดคล้องกับการประเมินของ BOE ล่าสุดที่คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเริ่มในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ไปจนถึง ไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 โดยเศรษฐกิจอาจปรับตัวลงจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดราว -3% (ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจก็อาจดีกว่า การหดตัวเกือบ -7% ในช่วงวิกฤต GFC ปี 2008)

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่าการทยอยเปิดประเทศของญี่ปุ่นจะช่วยหนุนให้การใช้จ่ายของครัวเรือน (Household Spending) ในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้น +1.7%m/m จากที่หดตัวกว่า -1.7% ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อสูงที่กดดันรายได้แท้จริงของครัวเรือนอาจส่งผลให้การใช้จ่ายชะลอตัวลงในอนาคตได้ ส่วนในฝั่งจีน ตลาดประเมินว่า ภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ยังดูซบเซาจากผลกระทบของนโยบาย Zero COVID อาจสะท้อนผ่าน ยอดการนำเข้า (Imports) เดือนตุลาคมที่อาจ “ไม่เปลี่ยนแปลง” จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือ อาจหดตัวลง ส่วนในภาพการส่งออก (Exports) นั้นก็อาจขยายตัวเพียง +4.3%y/y กดดันโดยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงระดับฐานยอดการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า

▪ ฝั่งไทย – เราคาดว่าระดับฐานราคาที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนตุลาคม ชะลอลงสู่ระดับ 6.1% อนึ่ง ผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่จะหนุนราคาสินค้าเกษตรให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีการปรับตัวขึ้นราว +0.7% จากเดือนก่อนหน้า

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ทิศทางเงินบาทอาจแข็งค่าใกล้โซนแนวรับในช่วงต้นสัปดาห์เช่นกัน ซึ่งต้องจับตาแนวโน้มราคาทองคำว่าจะสามารถปรับตัวขึ้นและยืนเหนือระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้หรือไม่ แม้เงินบาทอาจพลิกกลับมาอ่อนค่า หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นปลายสัปดาห์ แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะนักลงทุนต่างชาติอาจยังคงเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิ (แต่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจไหลเข้าน้อยลงจากสัปดาห์ก่อนที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิราว 2.8 หมื่นล้านบาท)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ อาจย่อตัวลงได้บ้างต้นสัปดาห์ หลังตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และคาดหวังว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทว่าในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้น หากเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงตามคาด รวมถึงผลการเลือกตั้งกลางเทอมชี้ว่าความวุ่นวายการเมืองสหรัฐฯ อาจเพิ่มสูงขึ้น

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.00-37.80 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.25-37.55 บาท/ดอลลาร์

Message us