รัฐบาลเตือน 19 เว็บดังต้องปฏิบัติตามกฎหมาย DPS

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เดินหน้าบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเฉพาะการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้กฎหมาย DPS ซึ่งราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเรื่อง กำหนดรายชื่อบริการแพลตฟอร์ม ดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่งพระราชกฤษฎีกาการประกอบ บริการแพลตฟอร์มที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป จำนวน 19 แพลตฟอร์ม ดังนี้

1. ช้อปปี้ (Shopee) 2. ลาซาด้า (Lazada) 3. วันทูคาร์ (One2car.com) – ประกาศซื้อขายรถยนต์มือสอง 4. แกร็บ (Grab) 5. ขายดี (Kaidee.com) 6. เอสไอเอ อี-อ๊อกชันซิสเต็ม (SIA E-AUCTION SYSTEM) 7. ไลน์ช้อปปิ้ง (LINE SHOPPING) 8. อาลีบาบา (Alibaba) 9. น็อกน็อก (NocNoc) 10. อาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress) 11. ดิสช็อป (Thisshop) 12. รักเหมา (Rakmao) 13. เถาเป่า (Taobao) 14. เอสซีจี โฮม (SCGHome) 15. วันสยาม แอปพลิเคชัน (ONESIAM Application) 16. เรดดี้พลาสติก อ็อกชัน (ReadyPlastic Auction) 17. รูทส์แพลตฟอร์ม (ROOTS Platform) 18. เทอมู (TEMU) 19. อีเบย์ (eBay)

ทั้งนี้ ทั้ง 19 แพลตฟอร์ม จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตาม ม. 20 ภายใต้กฎหมาย DPS ที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมนอกจากหน้าที่ทั่วไป  ได้แก่

1.ประเมินความเสี่ยง และจัดทำมาตรการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

2.ดำเนินการอื่นตามประกาศของคณะกรรมการ เช่น เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ขาย ก่อนอนุญาตให้ขายหรือโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน ตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเปิดขายสินค้าที่มีข้อกำหนดเรื่องมาตรฐาน

3.แสดงข้อมูลมาตรฐานสินค้า อย่างชัดเจนบนหน้าร้านค้า

4.มีกลไกแจ้งเตือนและนำออกสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

5.กำหนดบทลงโทษ สำหรับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน

“แพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นแพลตฟอร์มประเภทตลาดสินค้าออนไลน์ที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง และอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง และมีลักษณะมูลค่าธุรกรรมในราชอาณาจักรเกิน 100 ล้านบาท/ปี หรือไม่ได้จดทะเบียนกับ DBD แต่มีผู้ประกอบการ 100 รายขึ้นไป หรือไม่ได้จดทะเบียนกับ DBD แต่มีผู้ใช้บริการเกินกว่า 5% แต่ไม่เกิน 10% (เฉลี่ยต่อเดือน) หรือผู้ใช้บริการสามารถกระทำการใดโดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ ยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัลอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม หาก ETDA พบว่าเข้าเกณฑ์ข้างต้น ก็จะมีการประกาศรายชื่อเพิ่มเติมต่อไป ตามที่ ม. 24 กำหนดให้ต้องมีการ “ทบทวนรายชื่อ” แพลตฟอร์มเป็นประจำทุกปี ดังนั้น รายชื่อประกาศข้างต้น อาจมีการ เพิ่ม ลด หรือปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป” นายอนุกูล กล่าว