“พวงมโหตร” Soft Power มอญโบราญถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ที่วัดบางหลวง ตำบลบางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ศูนย์ศึกษามอญปทุมฯ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าค้นหาอีกที่หนึ่งของจังหวัดปทุมธานี ไม่ว่าด้านวิถีชีวิต ด้านวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และที่อยู่อาศัยที่ยังคงความเป็นวิถีชีวิตชุมชนมอญเก่าแก่อีกชุมชนหนึ่ง

ณ ที่แห่งนี้ชาวไทยเชื้อสายมอญเมืองปทุมธานี จะร่วมกันทำ “พวงมโหตร” ด้วยมืออย่างประณีต นำไปติดบริเวณวัดในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พวงมโหตร (อ่านว่า พวง-มะ-โหด) พวงมโหตรทำจากกระดาษสี (กระดาษว่าว) ทำเป็นพวงระย้า ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น ติดอยู่กับธงราวที่ตอกเป็นลายนักษัตร ใช้ตกแต่งสถานที่ตามงานบวชงานบุญ มีให้เห็นตามวัดในชนบท

“พวงมโหตร” เป็นศิลปะการตัดกระดาษของไทย-มอญ เพื่อใช้ประดับในงานมงคลต่างๆ (มะโหตร นั้นแปลว่า ดอกไม้) ใช้ประดับในงานบุญ เช่น ทำบุญบ้าน, ขึ้นบ้านใหม่, สงกรานต์มอญ, งานบวช, งานบุญเข้าพรรษาหรือแขวนไว้หน้าบ้านหรือทางเข้าวัด เป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับและความเป็นสิริมงคล

การทำพวงมโหตรยังคงมีศิลปะความเป็นมอญโบราญที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่หาดูได้ยากในปัจจุบันและกลายเป็นหนึ่งใน หัตถกรรมพื้นบ้าน และ Soft Power ท้องถิ่น ที่ช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมวัฒนธรรม

นางสาวสุนีย์ สุขประเสริฐชัย ชาวไทยเชื้อสายมอญเมืองปทุมธานี เปิดเผยว่า “ศิลปะการทำพวงมโหตร” เป็นงานประดิษฐ์และการตัดกระดาษแก้วที่ใช้ประดับประดาบริเวณงานต่างๆ เช่น งานบุญ งานมงคล งานประเพณีทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อตกแต่งให้งานมีความสวยงามน่ามอง

สำหรับ การทำพวงมโหตรจะใช้กระดาษโปตส์เตอร์สีสองหน้า เช่นกัน ถ้าจะให้สวยต้องใช้กระดาษหลาย ๆ สี พับกระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วพับครึ่งสามเหลี่ยมต่ออีก 2 ครั้ง หมุนยอด จากนั้น ใช้กรรไกรตัดกระดาษสามเหลี่ยมแบบสลับฟันปลา โดยตัดจากยอดบนลงล่างจนเกือบถึงชายด้านล่างให้มีระยะห่างเท่าๆ กัน พวงมโหตรเป็นเครื่องแขวนประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้แขวนในงานมงคลเท่านั้น

ด้าน นายพงศวัฒน์ ทองสินกอบกิจ ปราชญ์ชุมชนมอญ เล่าว่า เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ ไม่รู้จักพวงมโหตรว่าคืออะไรแต่น่าดีใจว่า ชุมชนมอญวัดบางหลวง ยังมีผู้สืบสานงานวัฒนธรรมชิ้นนี้ให้คงอยู่ให้เห็น เวลาที่มีการจัดงานบุญงานประเพณีต่าง ๆ ชาวบ้านจะร่วมกันตกแต่งศาลาวัดบริเวณรอบๆ วัด ด้วยพวงมโหตร สะท้อนให้เห็นถึงความรักความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีน้ำใจกันในงานบุญ หรืองานรื่นเริง ชาวมอญมักนิยมตัดกระดาษสีเป็นธงริ้วจำนวนมาก หลากสีติดกับเชือกเส้นยาวใช้โยงในงานหรือทำเป็นพวงมาลัยก็มี หากฉลุมักเป็นรูปนักษัตรต่างๆหรือฉลุชายระบายรูปลายกนก ติดขอบหน้าต่างแทนม่านหรือติดชายระบายคันร่ม ชายระบายรอบรถขบวน แต่ที่โดดเด่นของงานกระดาษมักเป็นพวงมโหตร นับเป็นหนึ่งในวิถีที่งดงามเชื่อมความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน และความเชื่อทางพุทธศาสนาอันดีงาม

ข่าว/ภาพ : พงพัทธ์ วงศ์ยะลา ผูัสื่อข่าวจังหวัดปทุมธานี