“มะปี๊ด” สมุนไพรไทยรสเปรี้ยวจี๊ดสรรพคุณก็จี๊ดจ๊าดแต่ทรงคุณค่า

ถ้าเอ่ยชื่อผลไม้อย่าง “มะปี๊ด” หลายคนอาจจะทำหน้าสงสัย แต่พอบอกว่า “มะปี๊ด” ก็คือ “ส้มจี๊ด” ใครต่อใครก็น่าจะพากันร้องอ๋อ เพราะเจ้าส้มผลเล็กๆ นี้ หากมีลูกดกเต็มต้น นอกจากจะเชื่อกันว่าเป็นสิริมงคลแก่คนปลูกแล้ว ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมายเลยทีเดียว

ชื่อสามัญของ “มะปี๊ด” คือ Calamondin Orange ขณะที่ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Citrus x microcarpa Bunge. อยู่ในวงศ์ Rutaceae ซึ่งก็คือพืชในตระกูลส้ม มะนาว ส้มโอ ส้มเขียวหวานนั้นเอง โดย “มะปี๊ด” เป็นชื่อที่เรียกขานกันทั่วไปแถบจังหวัดจันทบุรี อยู่ในวัฒนธรรมอาหารมายาวนาน เพราะชาวจันทบุรีใช้มะปี๊ด ประกอบอาหารทดแทนมะนาว และน้ำมะปี๊ดยังมีความหอมเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย

“มะปี๊ด” หรือ “ส้มจี๊ด” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ชื่อภาษาอังกฤษที่เรียกกันว่า “Kumquats” หรือ “Cumquats” น่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนกวางตุ้ง ออกเสียงว่า “ก่ำควิด หรือ ก่ำควอท” หมายถึงส้มแมนดารินที่มีสีทอง โดยมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งในแถบเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงยุโรปและอเมริกาเหนือ

ความนิยมของ “มะปี๊ด” นั้น มาจากรสชาติที่นำมาทำของกินได้หลากหลาย รูปทรงต้นเป็นไม้ประดับสวยงาม และดอกสีขาว กลิ่นหอม สามารถจัดเป็นไม้พุ่มปลูกในกระถางได้สวยงาม หรือปลูกลงดินก็ขึ้นได้ได้ทั่วไปไม่ยาก

“มะปี๊ด” มีการใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ในทางสรรพคุณยาจีนนั้นจะให้พลังเย็น รสเปรี้ยวอมหวานมีสรรพคุณเกี่ยวกับปอด จึงช่วยอาการเกี่ยวกับปอด ลำคอ ไอ แก้อาการไอ ขับเสมหะ เปลือกผลดิบกินสดๆ จะช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ กินชาส้มจี๊ดยังช่วยแก้ท้องอืด ขับลมในท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยย่อยอาหารด้วย

“มะปี๊ด” มีบันทึกลักษณะที่ต่างกันไว้ 4 ลักษณะ คือผลกลม (Round kumquat) ผลรูปไข่ (Oval kumquat) เหมยฮวา (Meiwa kumquat) โดยเหมยฮวานี้ยังมีชนิดย่อยๆ อีก คือชนิดฮ่องกง (Hong Kong kumquat) และชนิดเจียงสุหรือฟูกูชุ (Jiangsu kumquat หรือ Fukushu kumquat) ซึ่งต่างก็เป็นพันธุ์ผสม ท้ายสุดคือ มาลายัน (Malayan kumquat) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเช่นกัน

ขณะที่สายพันธุ์ “มะปี๊ด” ในชุมชนแถบจังหวัดจันทบุรี ค้นพบ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์พวง เป็นพันธุ์ดั้งเดิม ลูกเล็ก เปลือกบาง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สายพันธุ์ลูกใหญ่ เป็นพันธุ์ลูกผสมที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มา สายพันธุ์ด่าง ลูกด่าง ใบด่าง ใช้ปรุงอาหารได้เหมือนกันแต่ไม่นิยม (น่าจะไม่อร่อย) มักนำมาปลูกเป็นไม้ประดับมากกว่า เพราะเชื่อว่าเป็นการเสริมฮวงจุ้ย และสายพันธุ์หนาม รสชาติเปรี้ยวมากและทนต่อโรคดี

วิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพตำบลวันยาว อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ตระหนักถึงคุณค่าของส้มผลจ้อยนี้ จึงได้ปลูกมะปี๊ดและพัฒนาการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ สร้างรายได้ ทั้งการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จำหน่ายผลสด และได้รับสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ในการทำกิจกรรม “ท่องเที่ยวชีวภาพ” สร้างการรับรู้ ขยายตลาดให้มะปี๊ดจันทบุรีเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้ปัจจุบัน มะปี๊ด ได้รับความนิยมมากขึ้นในสินค้าประเภทเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเป็นรายการเครื่องดื่มที่มีจำหน่ายบนสายการบินไทยแอร์เอเชีย และปัจจุบันได้มีการยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับต้นมะปี๊ดในรูปแบบของ “ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน”

นอกจากนั้นแล้ว “มะปี๊ด” ยังมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในดินทราย ดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ดังนั้น ชุมชนที่ปลูกมะปี๊ดส่วนใหญ่จึงอยู่แถบชายฝั่งปากแม่น้ำเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรชีวภาพชายฝั่งที่เป็นป่าชายเลน โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพตำบลวันยาว ที่ใกล้ชิดกับบริเวณดังกล่าว ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. เป็น “กลุ่มชุมชนชายฝั่งแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าชายเลนตำบลวันยาว” เพื่อทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป