
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนแบบสหสถาบันระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ สถาบันภาคี รวม 50 องค์กรอันประกอบด้วย
1.กรมการแพทย์ 2. กรมสุขภาพจิต 3. กรมอนามัย 4. กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 5. กรมควบคุมโรค 6. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 8. กรุงเทพมหานคร (กทม.) 9. กรมแพทย์ทหารเรือ 10. กรมแพทย์ทหารบก 11. กรมแพทย์ทหารอากาศ 12. โรงพยาบาลตำรวจ 13. โรงพยาบาลกรุงเทพ 14. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 15. โรงพยาบาลปิยะเวท 16. โรงพยาบาลเมดพาร์ค 17. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 19. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 20. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 21. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 22. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 23. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 24. มหาวิทยาลัยนเรศวร

25. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 26. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 27. มหาวิทยาลัยบูรพา 28. มหาวิทยาลัยพะเยา 29. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 30. มหาวิทยาลัยมหิดล 31. มหาวิทยาลัยรังสิต 32. มหาวิทยาลัยรามคำแหง 33. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 34. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 35. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 36. มหาวิทยาลัยสยาม 37. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช 38. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 39. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 40. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 41. สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ 42. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 43. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 44. สำนักพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์
45. โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) 46. โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ราชเวชเชียงใหม่ 47. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 48. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 49. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ 50. มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทย ณ ห้องประชุมแมนดารินซี ชั้น 1 โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ เขตบางรัก

ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันภาคี จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานด้านจริยธรรมการวิจัยในคนสู่มาตรฐานสากลและการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนแบบสหสถาบัน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันและแบบสหสถาบัน โดยมุ่งร่วมมือส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานด้านจริยธรรมการวิจัยในคนสู่มาตรฐานสากล รวมถึงเพื่อให้การวิจัยทางคลินิกหรือการวิจัยในคนที่เกี่ยวข้องกับหลายสถาบันให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ให้การดำเนินการวิจัยในคนสอดคล้องกับการวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practice) และหลักจริยธรรม อีกทั้งให้ความมั่นใจในการปกป้องอาสาสมัครการวิจัย
สำหรับ ขอบเขตความร่วมมือนั้น สถาบันภาคีทั้งหมดและ วช. ตกลงที่จะร่วมมือกันดังนี้ 1. ร่วมมือกันในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานด้านจริยธรรมการวิจัยในคนในสถาบันภาคี 2. คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันภาคีแต่ละสถาบันปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวิธีดำเนินการมาตรฐาน (Standard Operating Procedures : SOP) ของคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 3. ร่วมมือกันในการดำเนินการของระบบกลางในการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (Central Independent Ethics Committees System) โดยเสนอรายชื่อคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (Central Research Ethics Committees : CREC) ให้ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทยแต่งตั้งเพื่อพิจารณาโครงร่างการวิจัยในคนที่จะดำเนินการในสถาบันภาคี หรือ หน่วยงาน องค์กร และสถาบันภายนอกภาคีที่มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทยได้ประเมินศักยภาพและรับรองตามที่ได้ร้องขอ

4. ร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวิธีดำเนินการมาตรฐาน (Standard Operating Procedures : SOP) ของคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันภาคีแต่ละสถาบันปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวิธีดำเนินการมาตรฐาน ( Standard Operating Procedures : SOP) ของคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 5. สถาบันภาคีจะให้การรับรองโครงร่างการวิจัยที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน โดยไม่ต้องพิจารณาซ้ำที่สถาบันภาคี หรือพิจารณาอย่างรวดเร็ว และอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด ทั้งนี้ สถาบันภาคีแต่ละแห่งจะกำหนดไว้ในวิธีดำเนินการมาตรฐาน (SOPs) ว่าด้วยการจัดการกับโครงการวิจัยที่ได้รับการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (CREC)
ทั้งนี้ มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทยเป็นผู้บริหารการดำเนินงานของคณะกรรมการกลาง
พิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน เป็นผู้รับผิดชอบทั้งรายรับ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าตอบแทนอันเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ โดยให้เป็นไปตามระเบียบแห่งมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทย บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ลงนาม เมื่อสิ้นสุดระยะเวลานี้แล้ว วช. และสถาบันภาคี สามารถยืนยันทำความตกลงร่วมมือกันต่อไปอีกทุก 5 ปี เป็นลายลักษณ์อักษร หากสถาบันภาคีใดไม่ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจะถือว่าเป็นการสิ้นสุดข้อตกลงระหว่าง วช. กับสถาบันภาคีนั้นเพียงสถาบันเดียว
กรณีสถาบันภาคีใดสถาบันหนึ่งต้องการยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือนี้ต้องแจ้งให้สถาบันภาคีอื่น ๆ ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้สิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังมิได้ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ให้ถูกต้องครบถ้วน หรือยังอยู่ระหว่างดำเนินการฝ่ายนั้นจะต้องดำเนินการในเรื่องที่ผูกพันหรือค้างอยู่นั้นให้เสร็จสิ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีที่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันอื่นมีความประสงค์เข้าร่วมเป็นสถาบันภาคีเพิ่มเติมในระหว่างที่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีผลบังคับใช้ สามารถจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพิ่มเติมได้ ซึ่งระยะเวลาความร่วมมือจะเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับเดิม