“สุดารัตน์”ลุยยื่นร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชนชูธงล่า 50,000 ชื่อเปิดทางเลือกตั้ง สสร.

เมื่อวันที่25 ต.ค.2565 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย นายโภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายต่อพงษ์ไชยสาส์น รองหัวหน้าพรรค พ.ต.ท. กุลธน ประจวบเหมาะ รองหัวหน้าพรรคพรรค น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรค และคณะ เข้ายื่น เสนอร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะช่วยปลดล็อคความขัดแย้งทางการเมือง ที่ดำเนินมากว่า 16 ปี เลือกฝั่งหนึ่งก็ติดหล่ม เลือกอีกฝั่งก็ติดล็อค ประเทศไปต่อไม่ได้ ไทยสร้างไทยไม่สามารถปล่อยให้ประเทศเป็นเช่นนี้ได้ จึงต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนในการสร้างรัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชน ผลักดันให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่สำคัญที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะต้องมีบทบัญญัติให้คนล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นกบฏและต้องรับโทษทัณฑ์สูงสุดที่ย่ำยีอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย

ดังนั้น พรรคไทยสร้างไทยจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันผลักดันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนกว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงต่อไป และขอขอบคุณทุกองค์กรที่กล่าวมาข้างต้นที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวยังเต็มที่

นายโภคิน ระบุว่า การเสนอแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้ได้บทบัญญัติที่ส่งเสริมประชาธิปไตย แก้ปัญหาอำนาจนิยมและการสืบทอดอำนาจและให้เป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ว่าต้องให้ประชาชนลงมติเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ทั้งนี้ขอเชิญชวนประชาชนและสื่อมวลชนร่วมกันรณรงค์ให้มีการลงชื่อให้ถึง 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” เพื่อให้มีการเลือกตั้ง สสร. เข้าไปยกร่างเพื่อแก้ไขรายละเอียดของรัฐธรรมนูญตั้งแต่หมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไปจนถึงบทเฉพาะกาล โดยปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฯ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ที่ผ่านวาระที่หนึ่งและที่สองแล้ว แต่ค้างการลงมติวาระที่สามเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยร่างที่ค้างอยู่ใช้คำว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” จึงต้องไปทำประชามติเสียก่อนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนเป็นว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” ซึ่งไม่ต้องทำประชามติก่อน

นอกจากนี้ จะมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ เพื่อให้มีช่องทางใหม่ในการยกร่างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดย สสร. แต่ไม่ใช่การเสนอในรูปของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังที่เป็นอยู่ตามปกติ เช่น การที่ ส.ส. จำนวน 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด หรือประชาชนจำนวน 50,000 คน เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้เสนอต้องเป็นผู้ยกร่างมาตราที่เกี่ยวข้อง แต่กรณีนี้เป็นการเสนอในรูปของ “หลักการ” หรือ “หัวข้อ” เช่น “การยกเลิกการสืบทอดอำนาจและเสริมสร้างประชาธิปไตย” โดยให้ สสร. ไปยกร่างรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือก สสร. ไปยกร่าง มีการสื่อสารกันระหว่างผู้สมัครเป็น สสร. ผู้ที่เป็น สสร. กับประชาชน เป็นการเรียนรู้และรับฟังความต้องการของประชาชนที่มีต่อกติกาสูงสุดของประเทศอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เป็นแบบ 90 ปีที่ผ่านมา คือร่างพิจารณา และบังคับใช้โดยผ่านกระบวนการรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแทบจะไม่มีความหมาย ถูกปล้นและบิดเบือนอำนาจโดยคณะรัฐประหารและพวกประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมมาโดยตลอด

ขณะที่ นายชวน ระบุว่ากระบวนการหลังรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนแล้วรัฐสภาจะตรวจสอบความถูกต้องของตัวร่าง ว่ามีความสมบูรณ์ครบถ้วนและชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่ หากร่างดังกล่าวมีความครบถ้วนสมบูรณ์แล้วสภาจะบรรจุลงเว็บไซต์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อ ผลักดันร่างกฎหมายต่อไป

Message us