เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งตำรวจปมไม่เลื่อนตำแหน่ง พล.ต.ต.วันไชย รอง ผบช.ภ.8

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 7 ก.ย.2565 อันสืบเนื่องจากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในคราวการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2565 ที่เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้บังคับการ เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะต้องไปพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเฉพาะในส่วนของผู้ฟ้องคดีให้ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

ทั้งนี้พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8 ยื่นฟ้อง คณะกรรมการข้าราชการตำรวจและนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และเป็นผู้มีรายชื่อประกาศลำดับอาวุโส ข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บังคับการถึงจเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 2 โดยผู้ฟ้องคดีอยู่ในอาวุโสลำดับที่ 24 ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณา แต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นระดับชั้นยศนายพลตำรวจ วาระประจำปี 2565 แต่ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2565 มีวาระการประชุมเรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้บังคับการ ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ

โดยในเวลาต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้นำมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้บังคับการ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยไม่มีรายชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งในครั้งนี้

ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เข้าร่วมการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในวันดังกล่าว พล.อ.ประวิตร เป็นผู้รักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อันเป็นผลมาจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ว่า ในระหว่างการรักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เสียก่อน

ดังนั้น พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลโดยที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือคณะรัฐมนตรีเสียก่อน เมื่อวันที่ 29 ส.ค. มีวาระการประชุมเรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้บังคับการ ซึ่งเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ดังนั้น พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่มีอำนาจในการเรียกประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่มีอำนาจเข้าประชุมในฐานะประธานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รวมทั้งไม่มีอำนาจในการพิจารณามีมติหรือรับรองมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ในวาระการประชุม เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงผู้บังคับการ ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น มติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าในเวลาต่อมา ครม.จะได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการ หรือองค์กรใดโดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่าให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.ก็ตาม ก็เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายในเวลาภายหลังจากที่ พล.อ. ประวิตรได้เข้าร่วมการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.แล้ว

ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นกรณีที่ไม่สามารถมอบอำนาจย้อนหลังได้ นอกจากนี้ ในการแต่งตั้งยังไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทั้งๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมีลำดับอาวุโสกว่าข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งในครั้งนี้หลายคน ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

1.เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2565 ในระเบียบวาระการประชุม เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้บังคับการ 2565 ทั้งหมด

2.เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เฉพาะกรณีที่ไม่มีการพิจารณารายชื่อผู้ฟ้องคดีให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น

3.ให้มีการเรียกประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาและมีมติแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงผู้บังคับการ 2565 ใหม่ให้ถูกต้อง ตามกฎหมายโดยเร็ว

4.ให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

5.ให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีโดยเร่งด่วนตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พร้อมทั้งคำขออื่นๆ อีก

โดยศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เข้าร่วมประชุมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะประธานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะเป็นการสั่งการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

เมื่อ พล.อ.ประวิตรรักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ย่อมทำให้เข้าร่วมประชุมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นอกจากจะมีฐานะเป็นประธานแล้ว จึงมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจด้วย การเข้าร่วมการประชุมย่อมมีผลต่อการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจที่จะไม่เห็นชอบ หรือเห็นชอบได้

โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขรายชื่อ เพื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้ การให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบ สืบเนื่องมาจากมติกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น เมื่อ พล.อ.ประวิตรเข้าร่วมประชุมด้วย ไม่ปรากฏว่า พล.อ.ประวิตรคัดค้าน หรือไม่ให้ความเห็นชอบ จึงถือว่า พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และในฐานะประธานซึ่งมีอำนาจออกคะแนนเสียงได้ใช้สิทธิออกเสียงมีมติเห็นชอบกับการพิจารณา เห็นชอบข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นด้วย

ในคำสั่งฉบับที่สามได้ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 ส.ค. มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตรมีอำนาจหน้าที่ทุกประการ โดยกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติในครั้งใหม่นี้เป็นการยกเลิก การกำหนดเงื่อนไขหรือสงวนอำนาจไว้ในคำสั่งฉบับที่สอง ยิ่งทำให้เห็นว่าคำสั่งฉบับที่สองมีการกำหนดเงื่อนไข หรือสงวนอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2ไว้ จึงมีการออกคำสั่งฉบับที่สามเพื่อให้ พล.อ.ประวิตรมีอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล

การที่ พล.อ.ประวิตรมีมติเห็นชอบให้ข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ถือได้ว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสั่งการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจในการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2565 โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบให้ พล.อ.ประวิตร ผู้ซึ่งรักษาราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจแต่อย่างใด

จึงทำให้มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในการประชุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างผู้ฟ้องคดีฟังได้

Message us