มท.เชิดชูเกียรติ ชรบ.ผู้เป็นพลังจิตอาสาปฏิบัติหน้าที่สร้างความมั่นคงระดับฐานราก

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานงาน “วันชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)” ประจำปี 2568 โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ผู้บริหารกรมการปกครอง หัวหน้าส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย และชรบ. จำนวน 4,000 คน เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง

โอกาสนี้ นายภูมิธรรม และคณะ เยี่ยมชมนิทรรศการความเป็นมาและการขับเคลื่อนงานของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) แล้วเดินเข้าสู่ปะรำพิธีไปประจำแท่นเกียรติยศเพื่อรับฟังการกล่าวรายงานยอดกำลังพลจากผู้บังคับแถวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และชมขบวนเกียรติยศเชิญสัญลักษณ์ประจำหน่วยของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน รับชมวีดิทัศน์ความเป็นมาและชุดการแสดงของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 2 ชุด ได้แก่ 1. การแสดง “ยุทธวิธีตีกระบอง 7 ท่าประกอบการเคลื่อนที่” จากหน่วยบังคับการ ชรบ.จ. อุบลราชธานี และ 2. การแสดง “ยุทธวิธีการใช้ไม้ง่ามสยบชายคลุ้มคลั่งในงานบุญประเพณีแห่ยักษ์คุ” จากหน่วยบังคับการ ชรบ.จ.อำนาจเจริญ



จากนั้น นายภูมิธรรม รับฟังการกล่าวรายงาน และอ่านสารวันชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) พร้อมมอบสัญลักษณ์ประจำหน่วยของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะผู้บังคับการหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และมอบรางวัลหมวดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านดีเด่น ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมจำนวน 24 รางวัล หลังจากนั้น ชรบ. ทั้ง 4,000 นาย ได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างกึกก้อง

กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้วันที่ 16 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)” เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎหมายลักษณะโจรห้าเส้น จุลศักราช 1199 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2380 ซึ่งได้มีการกำหนดให้ราษฎรช่วยระงับการปล้นสดมภ์บนหลักความรับผิดชอบร่วมกันของชุมชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามมีกำลังไม่เพียงพอที่จะระงับเหตุ จึงถือเป็นจุดกำเนิดของ ชรบ. อีกทั้งยังเป็นการสดุดีให้กับมวลชนผู้มีจิตอาสา และเสียสละเข้ามาทำหน้าที่สำคัญนี้ ซึ่งปัจจุบัน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) มีจำนวนรวมทั่วประเทศมากกว่า 670,000 คน ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ อันสะท้อนบทบาทสำคัญในการดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเป็นกำลังหลักที่สำคัญในพื้นที่ ทั้งการอยู่เวรยาม กาตรวจลาดตระเวน การสืบหาข่าว การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย การป้องกันปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา รวมไปถึงการช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่



ชรบ.” คือ ราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอ มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่ ในการตรวจตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อยสืบสวนหาข่าว พฤติการณ์อันอาจเป็นภยันตรายต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย เฝ้าระวังรักษาสถานที่สำคัญ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกหมู่บ้าน ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ทางอาญาและการก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ ป้องกันและบรรเทาธารณภัยตามที่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือเจ้าพนักงานอื่นร้องขอ ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอีกด้วย

จากการที่รัฐบาลได้เปิดปฏิบัติการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด “Seal Stop Safe” ชรบ. ในพื้นที่ 14 จังหวัด 52 อำเภอชายแดน ประกอบไปด้วยจังหวัดอำนาจเจริญ อุบลราชธานี จังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร เลย หนองคาย เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก และจังหวัดกาญจนบุรี ได้ผนึกกำลังร่วมกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหารในพื้นที่ชายแดน ร่วมกันป้องกัน สกัดกั้น การข่าว และการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด นอกจากนี้ ชรบ. ยังร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง ด้านอื่น ๆ อาทิ ดูแลความปลอดภัย การป้องกันสาธารณภัย และการสร้างความปรองดองเพื่อสร้างความสุข คลายทุกข์ให้พี่น้องประชาชนมี่



สำหรับ ผลการคัดเลือกหมวด ชรบ. ดีเด่น ประจำปี 2568 ระดับภาคและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ภาคกลาง) บ้านท่าเต้น หมู่ที่ 9 ต.พระเพลิง อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ภาคเหนือ) บ้านหนองขวาง หมู่ที่ 8 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) บ้านโนนเล่ หมู่ที่ 10 ต.โพนเขวา อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ ภาคใต้) บ้านกอโหนด หมู่ที่ 6 ต.ท่าเสม็ด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และจังหวัดชายแดนภาคใต้) บ้านสะแต หมู่ที่ 4 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ภาคกลาง) บ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ต.วังกระแจะ อ.เมืองตราด จ.ตราด ภาคเหนือ) บ้านแม่ตาว หมู่ที่ 1 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) บ้านตาดสาน หมู่ที่ 5 ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย ภาคใต้) บ้านหินลาด หมู่ที่ 3 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา และจังหวัดชายแดนภาคใต้) บ้านท่าแมงลัก หมู่ที่ 5 ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ภาคกลาง) บ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ที่ 4 ต.หนองหญ้าปล้อง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ภาคเหนือ) บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 8 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) บ้านนาเหมือง หมู่ที่ 2 ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร ภาคใต้) บ้านลิพอนใต้ หมู่ที่ 5 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และจังหวัดชายแดนภาคใต้) บ้านโคกม่วง หมู่ที่ 9 ต.แม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัดปัตตานี

รางวัลชมเชย ภาคกลาง) 1. บ้านท่ากระยาง หมู่ที่ 5 ต.ชัยนาท อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท 2. บ้านหนองตาเย็นใต้ หมู่ที่ 12 ต.หนองตาแต้ม อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภาคเหนือ) 1. บ้านห้วยกองเลาะ หมู่ที่ 9 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน 2. บ้านแม่บ่อทอง หมู่ที่ 6 ต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 1. บ้านดอนนางหงส์ท่า หมู่ที่ 7 ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม 2. บ้านหนองหว้า หมู่ที่ 2 ต.โนนรัง อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ภาคใต้) 1. บ้านนาวง หมู่ที่ 1 ต.บ้านมา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง 2. บ้านปลายคลอง หมู่ที่ 1 ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง และจังหวัดชายแดนภาคใต้) บ้านคอกช้าง หมู่ที่ 7 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา