ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2565 สะท้อนภาพการฟื้นตัว

ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2565 สะท้อนภาพการฟื้นตัว แต่ยังไม่ทั่วถึง ขณะที่ในปี 2566 ปัจจัยหนุนเบาบาง เป็นแรงกดดันการเติบโต

เครื่องชี้กิจกรรมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยในปี 2565 สะท้อนภาพการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึง แม้การเปิดโครงการใหม่กลับมาเติบโตเร่งขึ้น แต่มาจากปัจจัยเฉพาะทางธุรกิจ ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใหม่หรือจากนิติบุคคลยังอ่อนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2566 เนื่องจากปัจจัยหนุนเริ่มเบาบาง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV (สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565) โดยตลาดต้องติดตามว่าทางการจะต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการซื้อที่อยู่อาศัยหรือไม่ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อยังเปราะบาง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น การแข่งขันในธุรกิจที่สูงและจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมสูง ล้วนยังเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมการซื้อและการลงทุนที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ในปี 2566 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (รวมนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.75-1.82 แสนหน่วย หรือหดตัว 2.8% ถึงขยายตัว 1.1% เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัว 7.5% ในปี 2565

Message us