
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปในการพระราชพิธีฉัตรมงคล พุทธศักราช 2568 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เฝ้าฯรับเสด็จ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

เมื่อเสด็จฯถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพานทองสองชั้นบูชาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงกราบ ทรงศีล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก ถวายศีล และพระสงฆ์ถวายพรพระ จบแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประเคนปิ่นโตภัตตาหารแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก ประธานสงฆ์ นอกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชวงศ์ องคมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทรงประเคน และประเคน จนครบ 20 รูป เสร็จแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่ สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ เจ้าคณะรอง และพระราชาคณะ จนครบ 20 รูป ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาเทวดาที่รักษาพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทรงคม พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ครบ 3 รอบ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ เจิมพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร โหรหลวงผูกผ้าสีชมพู เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระสุหร่ายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ทองคำประจำรัชกาลที่พระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วทรงกราบพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ทั้งนี้ วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญในการเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ไม่ว่าจะโดยการสืบราชสันตติวงศ์ หรือการปราบดาภิเษก หากยังไม่ได้ทรงรับบรมราชาภิเษก ถือว่ายังไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ ตามโบราณราชประเพณี โดยมีแบบแผนและขั้นตอนต่างๆ สื่อความหมายถึงพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น “สมมติเทพ” มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สำหรับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นระหว่างวันที่ 4- 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 โดยพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และได้กำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่พสกนิกรพร้อมใจกันถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะมีการจัดพระราชพิธีทางศาสนาและพิธีการต่างๆ เพื่อถวายพระพรและน้อมรำรึกถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเพื่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

วันฉัตรมงคลจึงไม่เพียงแต่เป็นวันแห่งการเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรชาวไทย ซึ่งยึดถือพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาติ สำหรับในวันนี้หน่วยงานราชการ และพสกนิกรชาวไทยจะร่วมแสดงความจงรักภักดีผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญตักบาตร การจัดพิธีถวายพระพร การประดับธงชาติและธงพระปรมาภิไธยตามอาคารบ้านเรือน เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้


