“อนุพงษ์”กำชับผู้ว่าฯทั่วประเทศเป็นแม่ทัพลุยปราบยาเสพติดอย่างจริงจัง  

เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวั และนายอำเภอร่วมประชุม

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานของกรม รัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยระดับพื้นที่ โดยกลไกมหาดไทยทุกระดับได้ขับเคลื่อนการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง บางพื้นที่สามารถขับเคลื่อนเป็นตัวอย่าง และบางพื้นที่พบอุปสรรคการทำงาน โดยเน้นย้ำแนวทางการทำงานที่สำคัญ

ทั้งนี้ ได้แก่ 1.การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นแม่ทัพในการแก้อย่างจริงจัง ทั้งด้านอุปทาน (Supply Side) ของยาเสพติด พบว่าผู้กระทำความผิดมีรูปแบบช่องทางการจำหน่ายและขนส่งที่ซับซ้อน เพื่อให้การค้นหามีความสลับซับซ้อนขึ้น ทั้งการจำหน่ายผ่านโซเชียลมีเดีย และการลักลอบขนส่งผ่านผู้ให้บริการทั้งของรัฐและเอกชน จึงต้องบูรณาการทั้งเรื่องการข่าวและการปราบปราม Supply Side ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกกลไกตามโครงสร้างการบังคับบัญชาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด ด้วยการเอาใจใส่ ไม่ปล่อยปะละเลย ทำให้ชัด ต้องบูรณาการกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทั้งโรงเรียนสังกัด อปท. โรงเรียนสังกัด สพฐ. และสังกัดอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนเสพหน้าใหม่ และป้องกันอันตรายในสังคมจากผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง  เพราะคนกลุ่มนี้เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงกับคนในครอบครัวและสังคม

2.การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ให้กรมการปกครองใช้กลไกควบคุมการพิจารณาออกใบอนุญาตทุกประเภทให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกวดขันนายอำเภอให้เข้มงวดการพิจารณาออกใบอนุญาต โดยดูทั้งคุณสมบัติบุคคลและเรื่องอื่น ๆ ให้ถี่ถ้วน รัดกุม 3. งานทะเบียนและบัตร เป็นงานบริการพี่น้องประชาชนที่มักจะได้รับรายงานพบปัญหาการทุจริต จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอกำชับให้ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต “ต้องไม่ให้เกิดการทุจริต” และต้อง “ไม่กระทบกับการอำนวยความสะดวกบริการประชาชน” แต่หากพบการทุจริตต้องรับผิดชอบตามกฎหมายไม่มีละเว้น 4.การขับเคลื่อนกลไกแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามกลไก ศจพ. ซึ่งเราได้เข้าถึงทุกปัญหาของพี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมายใน TPMAP และได้เริ่มแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนครบทุกครัวเรือนแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและน้องอำเภอต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระบบ LOG Book เพื่อให้คณะอนุกรรมการประเมินผลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีข้อมูลในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป พร้อมทั้งให้ ศจพ.ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการตำบล และทีมพี่เลี้ยง ลงพื้นที่ไปติดตามคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาซ้ำอีก และทำให้เกิดความยั่งยืน

รมว.หมาดไทย กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนในเทศกาลลอยกระทง ปี 2565 ด้านความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่ไปลอยกระทง ทั้งการสัญจรทางน้ำ ท่าเรือ เรือโดยสาร โป๊ะ รวมทั้งการจราจรทางบก และความปลอดภัยจากดอกไม้เพลิง พลุ ตะไล การควบคุมดูแลการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถานบริการ สถานบันเทิงต่าง ๆ ต้องกำชับ กำกับดูแล “เข้มงวด” ไม่ให้เกิดเหตุร้ายในเทศกาลแห่งความสุขของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเน้นย้ำมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและเพิ่มความเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายในสถานศึกษาต่าง ๆ ในสังกัด อปท. และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในการดูแลสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดด้วย

นายอนุพงษ์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มูลนิธิ สมาคม เหล่ากาชาด องค์กรต่าง ๆ ที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งตอนนี้พี่น้องประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี มูล และเจ้าพระยา ยังประสบสถานการณ์น้ำท่วมขัง จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ส่วนเกี่ยวข้อง เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ที่ยังได้รับความเดือดร้อน เพราะบางพื้นที่เริ่มเกิน 60 วัน และพิจารณาว่าหากน้ำที่ท่วมขังยังมีคุณภาพปกติ ไม่เน่าเสีย ให้ขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจาก ปภ. สูบไปกักเก็บในพื้นที่ที่คาดว่าจะขาดน้ำ เพื่อป้องกันสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเบื้องต้น

สำหรับ การฟื้นฟูเยียวยา ให้ดำเนินการประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย และพื้นที่เขตให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภิบัติอำเภอ / จังหวัด พิจารณาการให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ครบถ้วน และใช้ศักยภาพของจังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานช่างในพื้นที่ เช่น ทหาร ตำรวจ อาชีวะ และ อปท. ดูแลพี่น้องประชาชนนอกเหนือจากการดูแลตามระเบียบของทางราชการ เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้โดยเร็วตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดทำแผนและขับเคลื่อนมาตรการลดต้นทางแหล่งกำเนิด PM 2.5 ได้ เช่น การชิงเก็บก่อนเผา ด้วยการนำเศษวัชพืชไปทำเชื้อเพลิง การขอความร่วมมือประชาชนไม่เผาในที่โล่ง เป็นต้น และขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของสายไฟฟ้า ป้องกันอัคคีภัย และบ้านเมืองมีความสวยงาม” รมว.มหาดไทยกล่าว

Message us